GenDHL
14
0
ในเดือนมิถุนายนจะเห็นได้ว่าผู้คน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคธุรกิจ ทั่วโลก ต่างพากันออกมาร่วมเดินขบวน แต่งกายสีสันสดใส พร้อมโบกสะบัดธงสีรุ้ง อันเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายและความเท่าเทียม ในเดือนที่ประเด็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศถูกชูขึ้นสู่กระแสสังคมมากที่สุดของปี แต่ใครจะรู้ว่ากว่าที่จะมีการเดินขบวน ก่อนที่ Pride Month จะเกิดขึ้น มีประวัติศาสตร์เบื้องหลังที่คนรุ่นเก่าต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มเพศหลากหลายในปัจจุบัน
สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศก่อนเหตุการณ์จลาจล Stonewall
ช่วงทศวรรษ 1960 และหลายทศวรรษก่อนหน้า กลุ่มเพศหลากหลาย ทั้งเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล และบุคคลข้ามเพศ ไม่เป็นที่ต้อนรับในสังคมอเมริกา ยกตัวอย่างเช่น การมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน เป็นสิ่งผิดกฎหมายในนครนิวยอร์ก
ด้วยเหตุนี้ กลุ่ม LGBTQ+ จึงพากันไปที่บาร์และคลับเกย์ สถานที่ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเปิดเผยและเข้าสังคมได้อย่างไร้กังวล
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสุราแห่งนครนิวยอร์ก (New York State Liquor) ทำการลงโทษและสั่งปิดสถานประกอบการที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลรู้จักหรือต้องสงสัยว่าเป็นบุคคลในกลุ่มเพศหลากหลาย โดยให้เหตุผลว่าการชุมนุมกันของกลุ่มรักร่วมเพศ สร้างความ ‘วุ่นวาย’
ในปี 1966 สมาชิกของ The Mattachine Society ซึ่งเป็นองค์กรที่อุทิศตนเพื่อสิทธิเกย์ จัดฉากการ ‘sip-in’ ที่พวกเขาสามารถป่าวประกาศเรื่องเพศได้อย่างเปิดเผย ท้าทายพนักงานร้านให้ไล่พวกเขาออกไปและขู่จะฟ้องร้องสถานประกอบการแห่งนั้น ๆ ในภายหลัง เมื่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนตัดสินว่า เกย์มีสิทธิเข้าใช้บริการในบาร์ การคุกคามของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงลดลงเป็นการชั่วคราว
The Stonewall Inn
กลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือกลุ่มมาเฟีย เล็งเห็นผลประโยชน์ในการให้บริการลูกค้าชาวเพศหลากหลาย ในปี 1966 ครอบครัวจีโนเวส เข้าซื้อกิจการ Stonewall Inn ซึ่งขณะนั้นเป็นร้านอาหารกึ่งบาร์สำหรับคนทั่วไปและทำการเปลี่ยนโฉมเล็กน้อย ก่อนจะเปิดทำการใหม่เป็นบาร์เกย์ในปีต่อมา (1967)
บาร์ Stonewall จดทะเบียนแบบ ‘bottle bar’ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ให้บริการในรูปแบบที่ลูกค้าจะต้องนำเครื่องดื่มมาเอง ด้วยความที่มีพื้นที่กว้างและค่าเข้าถูกจึงทำให้ Stonewall Inn เติบโตและมีชื่อเสียงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังต้อนรับเหล่าแดร็กควีนที่ไม่เป็นที่ยอมรับนักในบาร์อื่น รวมถึงเป็นที่พักในยามราตรีให้กับผู้ลี้ภัยและเยาวชนไร้บ้าน Stonewall ยังถือว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่บาร์ ที่อนุญาตให้ร้องเล่นเต้นรำได้สุดเหวี่ยง
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ครอบครัวจีโนเวส ต้องติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้เจ้าหน้าที่เพิกเฉยต่อกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ในบาร์ เจ้าของบาร์จะรู้ก่อนการบุกเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่แต่ละครั้ง เพื่อให้ได้เก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขายโดยไม่มีใบอนุญาต รวมถึงซ่อนกิจกรรมที่ผิดกฎหมายได้ทัน
เหตุจลาจล Stonewall
เช้าวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจบุกค้น Stonewall Inn จับกุมพนักงานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีใบอนุญาต กวาดล้างลูกค้าภายในบาร์ รวมถึงรวบผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอาญาของนิวยอร์ก ที่อนุญาตให้จับกุมใครก็ตามที่ไม่สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับเพศสภาพตนเองอย่างน้อย 3 ชิ้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงจะพาบุคคลต้องสงสัยว่าแต่งกายข้ามเพศ เข้าไปในห้องน้ำเพื่อตรวจเพศ
เหตุการณ์ในครั้งนี้ จุดชนวนให้ผู้คนที่สังเกตการณ์อยู่รอบนอกไม่ถอยหนีหรือกระจัดกระจายไปเหมือนในอดีต ความโกรธของพวกเขาชัดเจนและถูกเปล่งออกไปเป็นเสียงตะโกนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หยุดการคุมตัวเหล่าลูกค้าของบาร์ขึ้นรถตำรวจ
สถานการณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มใช้กำลัง เพื่อบังคับให้ผู้จับกุมขึ้นรถตำรวจ จึงมีการตะโกนปลุกระดมให้ผู้สังเกตการณ์รอบ ๆ ขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ ใส่ตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเรียกกำลังเสริมและกำบังตัวของพวกเขาเองเข้าไปในบาร์ หลังฝูงชนกว่า 400 ลุกฮือขึ้นสู้จากการถูกกดทับจนเป็นเหตุจลาจลในที่สุด
เครื่องกีดขวางของตำรวจถูกตีฝ่าด้วยฝูงชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และบาร์ Stonewall ถูกจุดไฟเผา จนกระทั่งกำลังเสริมเจ้าหน้าที่มาถึงเพื่อดับไฟได้ทันเวลา ก่อนจะเกิดการสลายฝูงชนในตอนท้าย แต่การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปอีกถึง 5 วัน
มีนักประวัติศาสตร์หลายคน ระบุว่า เหตุจลาจลในครั้งนี้ เปรียบเสมือนการประท้วงหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล่วงละเมิดคุกคาม และการเลือกปฏิบัติทางสังคมที่กลุ่ม LGBTQ ต้องประสบมาตลอดทศวรรษ 1960 เหตุการณ์ จลาจล Stonewall กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดบริบทของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องของสิทธิพลเมือง สิทธิสตรี รวมถึงสิทธิของกลุ่มเพศหลากหลายอีกด้วย
อิทธิพลของ Stonewall
แม้จะไม่สามารถกล่าวได้ว่าเหตุการณ์จลาจล Stonewall เป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQ แต่ก็เป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาสำหรับการเคลื่อนไหวการเมืองของกลุ่มเพศหลากหลาย ที่นำไปสู่องค์กรเพื่อสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ จำนวนมาก เช่น The Gay Liberation Front, Human Rights Campaign, GLAAD (formerly Gay and Lesbian Alliance Against Defamation), และ PFLAG (formerly Parents, Families and Friends of Lesbians and Gays).
ในวันครบรอบหนึ่งปีของการจลาจลเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1970 ผู้คนหลายพันคนเดินขบวนไปตามถนนของแมนฮัตตันจาก Stonewall Inn ไปยังสวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์ค ในวันที่เรียกว่า ‘Christopher Street Liberation Day’ ซึ่งเป็นขบวนไพรด์แรกของสหรัฐอเมริกา
ภายหลังในปี 1999 กรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ ได้จัดให้ Stonewall Inn อยู่ในทะเบียนสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ (National Register of Historic Places)
ต่อมาในปี 2016 บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดี กำหนดให้สถานที่เกิดเหตุจลาจล Stonewall เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ
และในปี 2019 ก่อนวันครบรอบ 50 ปีของจลาจล Stonewall ผู้บัญชาการตำรวจนครนิวยอร์ก ได้ออกคำขอโทษในนามของกรมตำรวจ โดยกล่าวว่า “การกระทำที่ผ่านมาของกรมตำรวจนครนิวยอร์กเป็นสิ่งที่ผิด”
เหตุจลาจล Stonewall ครบรอบ 54 ปีในวันที่ 28 มิถุนายน 2023 สะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มเพศหลากหลาย จนส่งผลในวงกว้างไปยังประเทศอื่น ๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเท่าเทียมและเสมอภาคของ LGBTQ ทั่วโลก
https://workpointtoday.com/stonewall-legacy/#google_vignette
คุยกับ Gen AI