เลือกธีมสี

LGBTQ ความหลากหลายที่ต้องเข้าใจ

 ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำว่า “LGBTQ” หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่บ่อยครั้ง โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ หรือ ICD ฉบับล่าสุด โดยย้ายหัวข้อ ‘การมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด' ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม และย้ายไปอยู่ในหมวด 'กรณีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเพศ' เพราะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดนั้นไม่ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิต รู้จัก LGBTQ ความหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเพศทางเลือก LGBTQ เป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยคำว่า LGBTQ ย่อมาจาก L - Lesbian กลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิง G - Gay กลุ่มชายรักชาย B - Bisexual หรือกลุ่มที่รักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง T - Transgender คือกลุ่มคนข้ามเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิง หรือเพศหญิงเป็นเพศชาย Q - Queer คือ กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศ และความรัก นอกจากนี้เพศทางเลือกยังสามารถอธิบายตามความหมายของเพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศได้ ดังนี้ เพศวิถี (Sexual Orientation) คือ ความรู้สึก รสนิยมทางเพศ รวมถึงความพึงพอใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะหลัก ๆ ได้แก่ รักต่างเพศ คือผู้ที่มีรสนิยมชื่นชอบเพศตรงข้าม หรือบุคคลต่างเพศ เช่น ผู้ชายที่ชอบผู้หญิง หรือผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย รักเพศเดียวกัน คือผู้ที่มีรสนิยมชื่นชอบเพศเดียวกัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ เลสเบี้ยน (Lesbian) และเกย์ (Gay) ไบเซ็กชวล (Bisexual) คือผู้ที่มีรสนิยมชื่นชอบทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยจะมีอารมณ์เสน่หากับเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกันก็ได้ ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ คือผู้ที่ไม่สนใจเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่เพียงรู้สึกสนิทสนม ผูกพันกับบุคคลอื่น อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) คือการรับรู้ว่าตนเองต้องการเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง ซึ่งบางคนอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับอวัยวะเพศ และโครงสร้างทางร่างกาย แต่บางคนอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากโครงสร้างทางร่างกาย หรือเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “คนข้ามเพศ (Transgender)” โดยคนข้ามเพศอาจเป็นผู้ที่ไม่สามารถกำหนดให้ตนเองเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิงเพียงเพศใดเพศหนึ่งได้ด้วย   เพศทางเลือกเป็นความผิดปกติหรือไม่ ในสมัยก่อนอาจมองว่าการข้ามเพศ หรือกลุ่มคนที่อยู่ในเพศทางเลือกมีความผิดปกติที่เกี่ยวกับทางจิตใจ โดยมีเอกสารทางราชการระบุว่า ‘กะเทย’ เป็นผู้มีความผิดปกติทางจิตถาวร เป็นโรคจิตวิกลจริต ซึ่งความคิดเหล่านี้ล้วนถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรม หรือบรรทัดฐานทางสังคมจนเกิดการเลือกปฏิบัติทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้เท่าที่ควร ในปัจจุบันสังคมได้เริ่มมีการเอาอิทธิพลทางความคิด และบรรทัดฐานทางสังคมแบบตะวันตกเข้ามา เราจึงสามารถพบเห็นกลุ่มคนที่เป็นเพศทางเลือกได้ทั่วไป โดยสังเกตได้จากสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ หรือมีศัพท์ที่บัญญัติใช้เฉพาะกับสื่อบันเทิงที่เกี่ยวกับชายรักชาย หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “ซีรีส์วาย” นั่นเองในทางการแพทย์บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นโรค หรือมีความผิดปกติทางจิตใจแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นส่วนผสมทั้งภายในและภายนอกที่หลากหลาย เช่น ฮอร์โมน สารเคมีในสมอง การเลี้ยงดู วัฒนธรรม และพื้นฐานทางสังคมที่หล่อหลอมตัวบุคคลจึงไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด ปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศสามารถแก้ไขได้โดยทางการแพทย์ ผู้ที่มีความแตกต่างด้านอัตลักษณ์ทางเพศอาจมีปัญหาทางร่างกาย หรือเพศสรีระที่ไม่ตรงกับความต้องการของตนเอง แพทย์จะช่วยเหลือโดยการแก้ไขร่างกายให้สอดคล้องกับภาวะจิตใจ โดยจะมีการดำเนินการ ดังนี้ วินิจฉัย เริ่มต้นจากการปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัย และให้คำแนะนำในการปรับตัว และการสื่อสารกับบุคคลอื่นเพื่อให้ทราบถึงวิธีการดูแลที่เหมาะสม การแปลงเพศ ผู้ที่ตัดสินใจจะรับการผ่าตัดแปลงเพศจะต้องได้รับการประเมินความพร้อมในการผ่าตัดจากจิตแพทย์ และควรเข้ารับการผ่าตัดจากศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และควรทำการผ่าตัดในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัย แนวปฏิบัติสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลานเป็น LGBTQ ปัญหากลุ่ม LGBTQ ต้องเผชิญที่สำคัญที่สุดไม่ได้มีแค่เพียงบรรทัดฐานทางสังคม แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการยอมรับจากคนในครอบครัว เนื่องจากคนกลุ่มนี้อาจต้องทำตามความหวังของพ่อแม่ หรือต้องรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ซึ่งเป็นเรื่องสวนทางกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ครอบครัว หรือคนรอบข้างอาจยังขาดความรู้ความเข้าใจในตัวตน หรือวิถีทางเพศของคนกลุ่มนี้ จึงควรเรียนรู้แนวปฏิบัติเมื่อพบว่าลูกหลานเป็น LGBTQ ดังนี้ ไม่เปรียบเทียบ ควรส่งเสริมการรู้คุณค่าในตนเอง ไม่ควรเปรียบเทียบลูกหลานกับใคร เพราะจะเป็นการสร้างความกดดันส่งผลให้ไม่อยากเปิดใจกับเรามากยิ่งขึ้น สื่อสารในเชิงบวก มีการสื่อสารระหว่างกัน เน้นการมองผลดีมากกว่าผลเสีย หมั่นพูดคุย เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้บอกเล่าเรื่องราว และรับฟังความคิดเห็นด้วยความเข้าใจ ให้ความสำคัญ ใส่ใจ และชื่นชมในสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ควรเยินยอเกินจริง ให้โอกาสได้เรียนรู้ โดยอาจดูแลอยู่ห่าง ๆ หรือคอยให้ความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น สังเกตพฤติกรรม วัยรุ่นที่เป็นเพศที่สามอาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ คนในครอบครัวจึงต้องคอยสังเกตพฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณว่าตนเองรู้สึกแปลกแยกจากสังคม หรือมีพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง มีอาการซึมเศร้า เป็นต้น เหนือสิ่งอื่นใดการยอมรับตัวตนของกลุ่มคนเพศทางเลือกไม่ได้มาจากสังคม แต่เป็นตัวของบุคคลเอง และครอบครัวที่ต้องทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ให้ลึกซึ้ง ไม่ใช่การหาสาเหตุและพยายามแก้ปมปัญหา เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้แสดงออกตัวตนออกมาได้อย่างอิสระ และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/LGBTQ

Tag:ชุมชนความหลากหลายทางเพศ,

โพสต์โดย: GenDHL

23

0

เหตุผลของความหลากหลายทางเพศ

เหตุผลของความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันเรื่องของรสนิยมทางเพศ เป็นเรื่องที่เปิดกว้างและเป็นที่ยอมรับ ทำให้คนสมัยนี้เปิดเผยตัวตนและรสนิยมของตัวเองกันมากขึ้น นำไปสู่ความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ได้มีเฉพาะแค่ผู้ชายและผู้หญิง เราจะเห็นได้ว่าคนในวงการหลายๆ คนแสดงออกด้วยเพศที่หลากหลายแต่ได้รับการยอมรับ อย่างล่าสุดก็มีคู่เลสเบี้ยนสะเทือนวงการบันเทิงในช่วงวาเลนไทน์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเรื่องของเพศมีความหลากหลายอย่างแท้จริง วันนี้เราก็มีคำอธิบายดีๆ มาฝาก เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันถึงลักษณะและความหลากหลายทางเพศตามที่กล่าวมา โดยเรื่องของเพศในทางการแพทย์นั้นจะไม่ได้แบ่งออกเป็นหญิงหรือชายเพียง 2 เพศเท่านั้น เพราะเพศหญิงและชายไม่สามารถอธิบายได้ เนื่องจากมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้มีแค่หญิงสุดโต่งหรือชายสุดโต่ง แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่อยู่ตรงกลางๆ ระหว่างหญิงกับชาย อย่างอวัยวะเพศก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดเพศหรือกำหนดความเป็นหญิงหรือชายในจิตใจ แต่อวัยวะเพศเป็นเพียงแค่ปัจจัยทางชีวภาพเท่านั้น เพราะนอกเหนือจากอวัยวะเพศแล้ว ร่างกายมนุษย์ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นปัจจัยในการกำหนดเพศของตัวบุคคล เช่น โครโมโซม ยีนส์ และอื่นๆ ทำให้เพศมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าคำว่าหญิงและชาย อย่างอัตลักษณ์ทางเพศก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถอธิบายในเรื่องของความหลากหลายทางเพศได้ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของรสนิยมทางเพศด้วย อย่างผู้หญิงบางคนจะมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงชัดเจน ชอบไว้ผมยาว ชอบสวมกระโปรง ชอบแต่งหน้า แต่ผู้หญิงบางคนไม่ใช่ อาจจะชอบนุ่งกางเกงยีนส์ ชอบไว้ผมสั้น นั่นก็เป็นในเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ และบางคนอาจจะชอบในเพศเดียวกันด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าผู้หญิงที่มีความห้าวจะต้องชอบผู้หญิงด้วยกันทั้งหมด แล้วแต่ความเป็นผู้หญิงในตัวว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามันน้อยมากๆ หรือค่อนไปทางผู้ชาย ผู้หญิงคนนั้นก็อาจมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นชายมากกว่าหญิง และอาจทำให้รสนิยมทางเพศแสดงออกมาเป็นชอบในเพศเดียวกันได้ด้วยสำหรับผู้ชายในเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศก็เช่นกัน ผู้ชายบางคนชอบเล่นบอล อาจแปลว่ามีความรู้สึกเป็นผู้ชายแบบสุดโต่ง แต่บางคนก็ไม่ได้ชอบเล่นบอล แต่ชอบทำกับข้าวนั่นก็แสดงให้เห็นว่ามีความรู้สึกเป็นผู้หญิงอยู่บ้าง แต่บางคนอาจถึงขั้นชอบแต่งหน้า ทาปาก อยากที่จะมีรูปร่างและทรวดทรงเป็นผู้หญิง ถึงขั้นไปซื้อฮอร์โมนมาทาน และชอบในเพศเดียวกัน นั่นก็แสดงว่าผู้ชายคนนั้นมีความเป็นผู้หญิงอยู่ในตัวมากกว่าผู้ชายนั่นเอง อัตลักษณ์ทางเพศไม่ได้เป็นตัวแปรของรสนิยมทางเพศแต่เป็นความรู้สึกที่เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายในตัว ซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับอวัยวะเพศ และส่วนนี้ก็ยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องรสนิยมทางเพศได้ด้วย ซึ่งอธิบายความหลากหลายทางเพศได้ และเป็นตัวแสดงให้เห็นว่าเพศไม่ได้มีเพียงแค่ 2 เพศเท่านั้น แต่ยังมีความหลากหลายและรายละเอียดที่ค่อนข้างซับซ้อนหรือเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะในตัวบุคคลหนึ่งก็สามารถมีความเป็นหญิงและเป็นชายอยู่ในตัวเองผสมผสานกัน ขึ้นอยู่ว่าจะมากหรือน้อยเท่านั้น แตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ถ้าความเป็นหญิงหรือเป็นชายที่ไม่ตรงกับลักษณะทางชีวภาพของร่างกายน้อย ก็ยังมีเพศที่ตรงกับร่างกายอยู่ แต่ถ้ามันมากก็จะกลายเป็นเพศที่สามไป และอาจส่งผลต่อรสนิยมทางเพศด้วย อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ถ้าร่างเป็นชายแต่ใจเป็นหญิงน้อย อาจจะชอบทำกับข้าวเหมือนผู้หญิงอย่างเดียว แต่อย่างอื่นที่ชอบก็ยังเหมือนผู้ชายคนอื่น ก็ยังคงเป็นเพศชายอยู่ แต่ถ้าใจเป็นหญิงมากในร่างผู้ชาย เช่น ชอบแต่งหน้า ทาปาก แต่งหญิง ฯลฯ ก็จัดอยู่ในเพศที่สามนั่นเอง สำหรับเพศที่สามไม่ได้เป็นโรค และไม่จัดว่าผิดปกติคนกลุ่มนี้มีความปกติทุกอย่างเหมือนกับผู้หญิงและผู้ชายทั่วไป เพราะสมอง จิตใจ และอวัยวะเพศ ไม่ได้จะเป็นต้องเหมือนหรือสอดคล้องกัน ความรู้สึกทางจิตใจสามารถแตกต่างจากอวัยวะเพศได้ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครโมโซม ยีนส์ การเติบโตของสมอง หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีผลวิจัยแสดงออกชัดเจนว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่ส่งผลต่อตัวเด็กให้กลายเป็นเพศที่สาม แต่เคยมีผลวิจัยออกมาว่าการเจริญเติบโตของสมองมีส่วนที่ทำให้รสนิยมทางเพศแตกต่างออกไปจากลักษณะทางชีวภาพของร่างกาย และคนที่จัดอยู่ในกลุ่มเพศที่สามเหล่านี้ไม่ได้เลือกที่จะเป็น แต่ธรรมชาติทำให้จิตใจของพวกเขาเป็นเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ โดยทั้งหมดนี้ก็เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับเพศที่มีผลต่อรสนิยมชอบเพศเดียวกันนั่นเอง ข้อมูลจากอ. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์และอ.นพ. ธเนศ แก่นสาร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดลhttps://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/

Tag:ชุมชนความหลากหลายทางเพศ, เพศภาวะ,

โพสต์โดย: GenDHL

12

0

54 ปี จลาจล Stonewall ประวัติศาสตร์ต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพ LGBTQ

ในเดือนมิถุนายนจะเห็นได้ว่าผู้คน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคธุรกิจ ทั่วโลก ต่างพากันออกมาร่วมเดินขบวน แต่งกายสีสันสดใส พร้อมโบกสะบัดธงสีรุ้ง อันเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายและความเท่าเทียม ในเดือนที่ประเด็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศถูกชูขึ้นสู่กระแสสังคมมากที่สุดของปี แต่ใครจะรู้ว่ากว่าที่จะมีการเดินขบวน ก่อนที่ Pride Month จะเกิดขึ้น มีประวัติศาสตร์เบื้องหลังที่คนรุ่นเก่าต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มเพศหลากหลายในปัจจุบัน สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศก่อนเหตุการณ์จลาจล Stonewallช่วงทศวรรษ 1960 และหลายทศวรรษก่อนหน้า กลุ่มเพศหลากหลาย ทั้งเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล และบุคคลข้ามเพศ ไม่เป็นที่ต้อนรับในสังคมอเมริกา ยกตัวอย่างเช่น การมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน เป็นสิ่งผิดกฎหมายในนครนิวยอร์กด้วยเหตุนี้ กลุ่ม LGBTQ+ จึงพากันไปที่บาร์และคลับเกย์ สถานที่ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเปิดเผยและเข้าสังคมได้อย่างไร้กังวล  อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสุราแห่งนครนิวยอร์ก (New York State Liquor) ทำการลงโทษและสั่งปิดสถานประกอบการที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลรู้จักหรือต้องสงสัยว่าเป็นบุคคลในกลุ่มเพศหลากหลาย โดยให้เหตุผลว่าการชุมนุมกันของกลุ่มรักร่วมเพศ สร้างความ ‘วุ่นวาย’ ในปี 1966 สมาชิกของ The Mattachine Society ซึ่งเป็นองค์กรที่อุทิศตนเพื่อสิทธิเกย์ จัดฉากการ ‘sip-in’ ที่พวกเขาสามารถป่าวประกาศเรื่องเพศได้อย่างเปิดเผย ท้าทายพนักงานร้านให้ไล่พวกเขาออกไปและขู่จะฟ้องร้องสถานประกอบการแห่งนั้น ๆ ในภายหลัง เมื่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนตัดสินว่า เกย์มีสิทธิเข้าใช้บริการในบาร์ การคุกคามของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงลดลงเป็นการชั่วคราว The Stonewall Innกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือกลุ่มมาเฟีย เล็งเห็นผลประโยชน์ในการให้บริการลูกค้าชาวเพศหลากหลาย ในปี 1966 ครอบครัวจีโนเวส เข้าซื้อกิจการ Stonewall Inn ซึ่งขณะนั้นเป็นร้านอาหารกึ่งบาร์สำหรับคนทั่วไปและทำการเปลี่ยนโฉมเล็กน้อย ก่อนจะเปิดทำการใหม่เป็นบาร์เกย์ในปีต่อมา (1967) บาร์ Stonewall จดทะเบียนแบบ ‘bottle bar’ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ให้บริการในรูปแบบที่ลูกค้าจะต้องนำเครื่องดื่มมาเอง ด้วยความที่มีพื้นที่กว้างและค่าเข้าถูกจึงทำให้ Stonewall Inn เติบโตและมีชื่อเสียงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังต้อนรับเหล่าแดร็กควีนที่ไม่เป็นที่ยอมรับนักในบาร์อื่น รวมถึงเป็นที่พักในยามราตรีให้กับผู้ลี้ภัยและเยาวชนไร้บ้าน Stonewall ยังถือว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่บาร์ ที่อนุญาตให้ร้องเล่นเต้นรำได้สุดเหวี่ยง ด้วยเหตุนี้ ทำให้ครอบครัวจีโนเวส ต้องติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้เจ้าหน้าที่เพิกเฉยต่อกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ในบาร์ เจ้าของบาร์จะรู้ก่อนการบุกเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่แต่ละครั้ง เพื่อให้ได้เก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขายโดยไม่มีใบอนุญาต รวมถึงซ่อนกิจกรรมที่ผิดกฎหมายได้ทัน เหตุจลาจล Stonewallเช้าวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจบุกค้น Stonewall Inn จับกุมพนักงานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีใบอนุญาต กวาดล้างลูกค้าภายในบาร์ รวมถึงรวบผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอาญาของนิวยอร์ก ที่อนุญาตให้จับกุมใครก็ตามที่ไม่สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับเพศสภาพตนเองอย่างน้อย 3 ชิ้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงจะพาบุคคลต้องสงสัยว่าแต่งกายข้ามเพศ เข้าไปในห้องน้ำเพื่อตรวจเพศ เหตุการณ์ในครั้งนี้ จุดชนวนให้ผู้คนที่สังเกตการณ์อยู่รอบนอกไม่ถอยหนีหรือกระจัดกระจายไปเหมือนในอดีต ความโกรธของพวกเขาชัดเจนและถูกเปล่งออกไปเป็นเสียงตะโกนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หยุดการคุมตัวเหล่าลูกค้าของบาร์ขึ้นรถตำรวจ  สถานการณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มใช้กำลัง เพื่อบังคับให้ผู้จับกุมขึ้นรถตำรวจ จึงมีการตะโกนปลุกระดมให้ผู้สังเกตการณ์รอบ ๆ ขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ ใส่ตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเรียกกำลังเสริมและกำบังตัวของพวกเขาเองเข้าไปในบาร์ หลังฝูงชนกว่า 400 ลุกฮือขึ้นสู้จากการถูกกดทับจนเป็นเหตุจลาจลในที่สุด เครื่องกีดขวางของตำรวจถูกตีฝ่าด้วยฝูงชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และบาร์ Stonewall ถูกจุดไฟเผา จนกระทั่งกำลังเสริมเจ้าหน้าที่มาถึงเพื่อดับไฟได้ทันเวลา ก่อนจะเกิดการสลายฝูงชนในตอนท้าย แต่การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปอีกถึง 5 วัน  มีนักประวัติศาสตร์หลายคน ระบุว่า เหตุจลาจลในครั้งนี้ เปรียบเสมือนการประท้วงหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล่วงละเมิดคุกคาม และการเลือกปฏิบัติทางสังคมที่กลุ่ม LGBTQ ต้องประสบมาตลอดทศวรรษ 1960 เหตุการณ์ จลาจล Stonewall กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดบริบทของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องของสิทธิพลเมือง สิทธิสตรี รวมถึงสิทธิของกลุ่มเพศหลากหลายอีกด้วย อิทธิพลของ Stonewallแม้จะไม่สามารถกล่าวได้ว่าเหตุการณ์จลาจล Stonewall เป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQ แต่ก็เป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาสำหรับการเคลื่อนไหวการเมืองของกลุ่มเพศหลากหลาย ที่นำไปสู่องค์กรเพื่อสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ จำนวนมาก เช่น The Gay Liberation Front, Human Rights Campaign, GLAAD (formerly Gay and Lesbian Alliance Against Defamation), และ PFLAG (formerly Parents, Families and Friends of Lesbians and Gays). ในวันครบรอบหนึ่งปีของการจลาจลเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1970 ผู้คนหลายพันคนเดินขบวนไปตามถนนของแมนฮัตตันจาก Stonewall Inn ไปยังสวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์ค ในวันที่เรียกว่า ‘Christopher Street Liberation Day’ ซึ่งเป็นขบวนไพรด์แรกของสหรัฐอเมริกา  ภายหลังในปี 1999 กรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ ได้จัดให้ Stonewall Inn อยู่ในทะเบียนสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ (National Register of Historic Places)  ต่อมาในปี 2016 บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดี กำหนดให้สถานที่เกิดเหตุจลาจล Stonewall เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  และในปี 2019 ก่อนวันครบรอบ 50 ปีของจลาจล Stonewall ผู้บัญชาการตำรวจนครนิวยอร์ก ได้ออกคำขอโทษในนามของกรมตำรวจ โดยกล่าวว่า “การกระทำที่ผ่านมาของกรมตำรวจนครนิวยอร์กเป็นสิ่งที่ผิด”   เหตุจลาจล Stonewall ครบรอบ 54 ปีในวันที่ 28 มิถุนายน 2023 สะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มเพศหลากหลาย จนส่งผลในวงกว้างไปยังประเทศอื่น ๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเท่าเทียมและเสมอภาคของ LGBTQ ทั่วโลก https://workpointtoday.com/stonewall-legacy/#google_vignette

Tag:ชุมชนความหลากหลายทางเพศ,

โพสต์โดย: GenDHL

14

0

สถานการณ์กฎหมาย LGBTQ+ ทั่วโลก : หลายประเทศยกเลิกโทษแต่ยังเกิดความสูญเสีย

รู้หรือไม่ในหลายประเทศการเป็น LGBTQ+ ยังเป็นอาชญากรรม ปัจจุบัน การลงโทษ LGBTQ+ ในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มที่ลดลงก็จริง แต่ก็ยังคงมีการสูญเสียและความเจ็บปวดยังเกิดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากสำนักข่าว TODAY พามาดูสถานการณ์กฎหมายลงโทษ LGBTQ+ ทั่วโลก และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงปี 2566 มี 62 ประเทศที่ยังมีกฎหมายลงโทษการเป็น LGBTQI+ โดยเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในแอฟริกา ซึ่งสถานการณ์ยังคงแย่ลงเรื่อยๆ ภาคประชาชนมีการรณรงค์ต่อต้านสิทธิ LGBTQI+ ส่วนภาครัฐบางประเทศก็ยังออกกฎหมายเพื่อริดรอนสิทธิทางเพศ เช่น รัฐสภาของยูกันดาเพิ่งผ่านกฎหมายเพื่อปราบปรามคนที่ไม่ได้รักต่างเพศ อย่างไรก็ดีบางประเทศที่ยังมีกฎหมายเหล่านี้ก็มีความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมาย แต่ยังไม่สำเร็จมากนัก  ยังมีอีก 2 ประเทศอย่างประเทศอียิปต์และอิรัก ที่ไม่ได้มีกฎหมายลงโทษ LGBTQ+ แต่การเป็น LGBTQI+ นั้นเป็นความผิดทางพฤตินัยใน 2 ประเทศนี้  นาดา ไชยจิตต์ นักปกป้องสิทธิความหลากหลายทางเพศอธิบายว่า ความผิดทางพฤตินัยในบริบทนี้คือ ในประเทศอียิปต์และอิรักไม่มีการบัญญัติกฎหมายสำหรับลงโทษ เพศหลากหลายเป็นลายลักษณ์อักษรแต่การเป็นเพศหลากหลายมีความผิดที่สามารถถูกลงโทษได้เลย โดยที่ไม่ต้องพึ่งกฎหมายและการตัดสินในชั้นศาล เช่น LGBTQI+ สามารถถูกลงโทษทางอาญาโดยประชาชนในประเทศด้วยวิธีการต่างๆ อย่าง การประหารชีวิต การเฆี่ยนตี การจำคุก หรือแม้กระทั่งการขว้างปาก้อนหินใส่ เพราะมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศ International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association (ILGA) คือสมาพันธ์ระหว่างประเทศที่มุ่งมั่นผลักดันสิทธิมนุษยชนของผู้คนทุกกลุ่มเหล่าเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของ LGBTIQ+ ได้มีการติดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ทั่วโลก พบว่ากฎหมายที่ลงโทษหนักที่สุดอยู่ในบรูไน อิหร่าน มอริเตเนีย ซาอุดีอาระเบีย เยเมน และในบางรัฐทางตอนเหนือของไนจีเรีย ซึ่งมีกฎหมายประหารชีวิตสำหรับกิจกรรมทางเพศของเพศกำเนิดเดียวกัน  และใน 5 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน ปากีสถาน กาตาร์ โซมาเลีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่มีความชัดเจนทางกฎหมายแต่มีความผิดทางพฤตินัย และอาจใช้โทษประหารชีวิตได้ ขณะที่ หลายประเทศกฎหมายดั้งเดิมจะบังคับใช้กับผู้ชาย แต่ในปัจจุบันก็มีบทลงโทษสำหรับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงเช่นกัน แนวโน้มทั่วโลกมีบรรยากาศในการยอมรับมากขึ้น เช่น ประเทศที่เคยมีกฎหมายเอาผิดก็ยกเลิก พิจารณาจากสถิติจาก ILGA แล้ว ในปี 1998 เป็นปีที่มีการลดกฎหมายลงโทษ LGBTQ+ มากที่สุด ทั้งหมด 5 ประเทศ โดยแอฟริกาใต้ได้ออกกฎหมายฉบับแรกที่ห้ามการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนด้วยเหตุผลของ “รสนิยมทางเพศ” ทำให้แอฟริกาใต้มีการยกเลิกกฎหมายลงโทษ LGBTQ+ และนอกจากนี้ยังมีอีก 4 ประเทศ อย่าง ไซปรัส คาซัสสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน มีการยกเลิกกฎหมายให้การเป็น LGBTQ+ ไม่มีความผิดทางอาญาในประเทศนั้นๆ  ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 รัฐสภาของสิงคโปร์ ยกเลิกกฎหมายที่ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย ได้มีการบังคับใช้ใน พ.ศ. 2566 แต่ในเดือนเดียวกันนั้นเอง ศาลสูงในบาร์เบโดส ได้ออกกฎหมายที่กำหนดให้เพศเกย์มีความผิดทางกฎหมาย หลายประเทศมีการพัฒนาส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ จนในขณะนี้ มี 33 ประเทศทั่วโลกที่ยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน และอีก 34 ประเทศให้การยอมรับการเป็นคู่ชีวิตของ LGBTQ+ แต่ในเวลาเดียวกันหลายประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางก็ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งมีการไล่ล่า เช่น มีการปลอมแปลงเพื่อหลอกล่อให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเปิดเผยตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่นในการหาคู่ต่าง ๆ  My Country Talks ร่วมกับสำนักข่าว TODAY ขอเชิญผู้ที่มีความสนใจ เข้าร่วมกิจกรรม The World Talks ที่จะชวนคนจากหลากหลายพื้นที่ของโลกมาแลกเปลี่ยนไอเดีย เรื่องราว มุมมอง ผ่านการสนทนาออนไลน์แบบ 1:1 ในวันที่ 25 มิ.ย. 2023 ผู้เข้าร่วมจะได้รับโอกาสพูดคุยกับผู้ที่มาจากต่างวัฒนธรรม ต่างบริบท ต่างแนวคิด โดยคัดจากการตอบคำถามในแง่มุมต่างๆ ทั้งเรื่องสภาพอากาศ รัสเซีย-ยูเครน ความเท่าเทียม ผู้อพยพ และประเด็นอื่นๆ โดยระบบจะทำการจับคู่คุณกับคนที่มีแนวคิดไม่เหมือนกับคุณ ซึ่งอาจมาจากประเทศใดก็ได้ในโลก เพื่อที่จะได้มีโอกาสพูดคุยกันผ่านทางช่องทางออนไลน์ สำหรับกิจกรรม World Talks จะมีขึ้นในวันที่ 25 มิ.ย. 2023 ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 5,000 คน จากกว่า 100 ประเทศแล้ว https://workpointtoday.com/lgbtqi-230613/#google_vignette

Tag:ชุมชนความหลากหลายทางเพศ,

โพสต์โดย: GenDHL

37

0

กฎหมายคู่ชีวิต ‘LGBTQ+’ ฝันที่มาไกล แต่ไปไม่เคยถึงฝั่ง

กฎหมายคู่ชีวิต ‘LGBTQ+’ ฝันที่มาไกล แต่ไปไม่เคยถึงฝั่ง เขียนโดย: พรภัสสร สุขะวัฒนะ บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด"...หลายต่อหลายครั้ง เรามักจะตั้งคำถามว่า สังคมที่อุดมไปด้วยประชาธิปไตย ที่มีการเรียกร้องรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมได้ในทุกเรื่อง แต่การยอมรับกลุ่มหลากหลายทางเพศผ่านตัวบทกฎหมาย เพื่อการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ ไม่ใช่การยอมรับเพียงลมปาก กลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าผ่านร่างกฎหมายกัญชง-กัญชา..." หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง 'ทัศนคติและการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ฯ ในสังคมไทย' ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในการสร้างครอบครัว หรือการอยู่ร่วมกันในสังคม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความหลากหลายทางเพศของบุคคลมีให้เห็นมาช้านานนับร้อยนับพันปี ตราบเท่าที่มนุษย์จะสามารถบันทึกเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ไว้ได้ ในหลาย ๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพียงแต่ในอดีตเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับ หรือไม่รู้สังคมจะนิยามความหลากหลายอย่างไร ในเมื่อกติกาตัดสินให้มองเพียงภาพลักษณ์ทางกายภาพเป็นสำคัญ แต่เมื่อความเจริญเริ่มมากขึ้น ความเข้าใจต่อสิทธิในชีวิตและความต้องการของตนเองมีมากตาม การยอมรับความเป็น “บุคคล” ของกันและกันมากขึ้น สังคมก็เริ่มให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศที่มีความหลากหลาย ไม่ได้ยึดติดอยู่แค่เพียงอัตลักษณ์โดยกายภาพของบุคคล โดยเมื่อมองเข้ามาในภาพของสังคมไทยนั้น ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีความพยายามสร้างความเข้าใจตลอดจนการรณรงค์ และแม้กระทั่งเรียกร้องให้คนทุกผู้ในสังคมได้ตระหนัก และเข้าใจถึง 'สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ' ในภาพของสังคมแบบความหลากหลายทางเพศ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพความเท่าเทียมกันด้านเพศ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งในภาคการเมือง มีความพยายามนำมาเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงในหลาย ๆ พรรคการเมือง อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่) เรื่องนี้ ที่เห็นเด่นชัดครั้งแรกประมาณช่วงปีพ.ศ. 2555 และในสังคมประเทศไทย ก็มีการพยายามเคลื่อนไหวผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง ในเวลาไล่เลี่ยกับในต่างประเทศที่มีการเรียกร้อง และทยอยผ่านกฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกันต่อเนื่องเรื่อยมา ในขณะที่ประเทศไทย ยังเป็นเพียงการรณรงค์เรียกร้องเท่านั้น จนล่วงเลยมาถึง ปีพ.ศ. 2562 มีการหยิบยกมาเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงหลักอีกครั้งในหลาย ๆ พรรคการเมือง ประกอบกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ที่มีการหยิบมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดก็มีการผลักดันกฎหมายคู่ชีวิตเข้าสู่สภาและผ่านรับหลักการได้ถึง 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคู่ ชีวิตฯ ของรัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ของรัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล กรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ประกอบไปด้วยผู้แทนราษฎรจากพรรคน้อยใหญ่ หลายฝักหลายฝ่าย แต่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ได้พิจารณาผนวกรวมข้อดีของทั้ง 4 ฉบับ จนกลายเป็นกฎหมายสมรสที่ดี ที่สุดเพียง 2 ฉบับ สำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศรวมทั้งบุคคลทุกเพศในสังคมที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ เป็นการสร้างบรรทัดฐานของความเท่าเทียมที่แท้จริง โดยกฎหมายทั้งสองฉบับประกอบไปด้วย ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฯ และ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งทั้งสองฉบับล้วนมีส่วนสัมพันธ์กัน แต่สุดท้าย กฎหมายก็ไปไม่ถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อถึงวาระปิดสมัยประชุม ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ กฎหมายที่ถูกค้างเติ่งรอบรรจุวาระพิจารณา ก็ต้องถูกย่อยสลายกลับไปยังจุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง!หลายต่อหลายครั้ง เรามักจะตั้งคำถามว่า สังคมที่อุดมไปด้วยประชาธิปไตย ที่มีการเรียกร้องรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมได้ในทุกเรื่อง แต่การยอมรับกลุ่มหลากหลายทางเพศผ่านตัวบทกฎหมาย เพื่อการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ ไม่ใช่การยอมรับเพียงลมปาก กลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าผ่านร่างกฎหมายกัญชง-กัญชา ส่วนหนึ่งของปัญหาที่อาจทำให้ภาครัฐ ไม่สามารถขับเคลื่อนให้กฎหมายเกิดขึ้นได้จริง แต่เลี่ยงไปใช้การจดทะเบียนคู่ชีวิต เพราะปัญหาจากการนับถือศาสนา เนื่องจากในสังคมไทยเกิดเสรีในการนำถือศาสนาและในบางศาสนายังไม่ให้การยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ยังคงมองว่าเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ และขัดต่อหลักความเชื่อทางศาสนาของตนเอง ในขณะที่กลุ่มหลากหลายทางเพศเองก็ดี หรือประชาชนทั่วไปบางส่วน ยังไม่เข้าใจและไม่สามารถเห็นถึงความแตกต่างเชิงลึกระหว่าง คำว่า สมรสเท่าเทียม กับ จดทะเบียนคู่ชีวิต ที่ในบทบัญญัติทางกฎหมายมีความแตกต่างกันและส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้ เพราะกฎหมายดั้งเดิมที่มีกำหนดให้ผู้รับผลประโยชน์เป็นทายาทหรือคู่สมรสตามกฎหมายเท่านั้น ในกรณีนี้ คู่สมรสตามกฎหมาย คือชายและหญิงที่ยินยอมเป็นสามีภริยากันและจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา มีพลังอันน้อยนิดของสังคมที่จะพยายามผลักดันกฎหมายเหล่านี้ เพราะหลายต่อหลายครั้งเราก็จะเห็นกลุ่มคนในสังคมเองก็ดี ยังไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของกฎหมายคู่ชีวิตที่มีต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศดีพอ ยังไม่ได้เข้าใจว่ากฎหมายคู่ชีวิต ไม่ใช่เพียงการต้องการแต่งงานของLGBTQ+ แต่เป็นรับรองสิทธิอันชอบธรรมของคู่ชีวิตตามกฎหมาย เหมือนที่ชาย – หญิง ทั่วไป พึงมีสิทธิ ด้านสื่อมวลชนเองก็ดี ในฐานะที่เป็นผู้นำสาร เป็นเสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณการรับรู้ข้อมูล ก็ควรที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจอันดี ในข้อเท็จจริงต่อสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศในทุก ๆ มิติ สื่อมวลชน ควรเลิกใช้ความหลากหลายทางเพศให้เป็นแค่เครื่องมือในการสร้างความนิยม และไม่ควรนำเสนอข่าวสารด้วยการยกอัตลักษณ์ทางเพศขึ้นมาเป็นตัวตั้ง อันนำไปสู่การบูลลี่ (Bully) ทางเพศ และทำให้สังคมมองกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นคนแปลกแยกและน่ากลัว ควรหันมาให้ความรู้ผ่านเนื้อหาบทความ รายงานเพื่อส่งเสริมให้สังคมเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่จริงในสังคมและไม่ควรนำเพศมาเป็นตัวชี้นำการดำเนินชีวิตต่าง ๆ ในสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นการสร้างภาพจำที่ผิด ๆ ต่อสังคม ยิ่งทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศถูกมองว่าแปลกแยก และยิ่งทำให้แสงสว่างปลายอุโมงค์ของกฎหมายคู่ชีวิต ริบหรี่ลงไปในที่สุด นอกจากนั้น ในแง่มุมของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฯ หรือกฎหมายที่รองรับการสร้างครอบครัวของกลุ่มหลากหลายทางเพศ สื่อมวลชนควรให้น้ำหนักในการติดตามความเคลื่อนไหวและนำเสนอข้อมูลข่าวให้มากกว่าเดิม อย่ารอเพียงเพื่อสร้างสถานการณ์ความคิดเห็นขัดแย้งรุนแรงทางเมืองหรือสังคมออนไลน์ และควรให้ข้อมูลเชิงความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ ของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมให้บุคคลสร้างครอบครัวที่อบอุ่นได้โดยปราศจากข้อแม้ การให้ข้อมูลสาระสำคัญของกฎหมายแต่ละมาตราว่ามีประโยชน์ส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนความเท่าเทียมในสังคมได้อย่างไร สุดท้าย ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะมีแนวนโยบายเรื่องกฎหมายรับรองคู่สมรสของกลุ่มหลากหลายทางเพศออกมารูปแบบไหน สิ่งที่เราควรทำตั้งแต่ตอนนี้คือสร้างความเข้าใจตระหนักรู้ถึงความสำคัญของกฎหมายต่อคนในสังคมเพื่อให้กลายเป็นพลังมหาศาลยิ่งขึ้นในการร่วมผลักดันตัวบทกฎหมายต่อไป https://www.isra.or.th/site_content/item/1076-isra-8.html

Tag:ชุมชนความหลากหลายทางเพศ,

โพสต์โดย: GenDHL

19

0

เลขที่ 88 ถนนติวานนท์ 3 (แยก 16) ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

02 968 8019

02 968 9885

คุยกับ Gen AI