GenDHL
47
0
รู้หรือไม่ในหลายประเทศการเป็น LGBTQ+ ยังเป็นอาชญากรรม ปัจจุบัน การลงโทษ LGBTQ+ ในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มที่ลดลงก็จริง แต่ก็ยังคงมีการสูญเสียและความเจ็บปวดยังเกิดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
สำนักข่าว TODAY พามาดูสถานการณ์กฎหมายลงโทษ LGBTQ+ ทั่วโลก และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง
ปี 2566 มี 62 ประเทศที่ยังมีกฎหมายลงโทษการเป็น LGBTQI+ โดยเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในแอฟริกา ซึ่งสถานการณ์ยังคงแย่ลงเรื่อยๆ ภาคประชาชนมีการรณรงค์ต่อต้านสิทธิ LGBTQI+ ส่วนภาครัฐบางประเทศก็ยังออกกฎหมายเพื่อริดรอนสิทธิทางเพศ เช่น รัฐสภาของยูกันดาเพิ่งผ่านกฎหมายเพื่อปราบปรามคนที่ไม่ได้รักต่างเพศ
อย่างไรก็ดีบางประเทศที่ยังมีกฎหมายเหล่านี้ก็มีความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมาย แต่ยังไม่สำเร็จมากนัก
ยังมีอีก 2 ประเทศอย่างประเทศอียิปต์และอิรัก ที่ไม่ได้มีกฎหมายลงโทษ LGBTQ+ แต่การเป็น LGBTQI+ นั้นเป็นความผิดทางพฤตินัยใน 2 ประเทศนี้
นาดา ไชยจิตต์ นักปกป้องสิทธิความหลากหลายทางเพศอธิบายว่า ความผิดทางพฤตินัยในบริบทนี้คือ ในประเทศอียิปต์และอิรักไม่มีการบัญญัติกฎหมายสำหรับลงโทษ เพศหลากหลายเป็นลายลักษณ์อักษรแต่การเป็นเพศหลากหลายมีความผิดที่สามารถถูกลงโทษได้เลย โดยที่ไม่ต้องพึ่งกฎหมายและการตัดสินในชั้นศาล เช่น LGBTQI+ สามารถถูกลงโทษทางอาญาโดยประชาชนในประเทศด้วยวิธีการต่างๆ อย่าง การประหารชีวิต การเฆี่ยนตี การจำคุก หรือแม้กระทั่งการขว้างปาก้อนหินใส่ เพราะมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศ
International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association (ILGA) คือสมาพันธ์ระหว่างประเทศที่มุ่งมั่นผลักดันสิทธิมนุษยชนของผู้คนทุกกลุ่มเหล่าเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของ LGBTIQ+ ได้มีการติดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ทั่วโลก พบว่ากฎหมายที่ลงโทษหนักที่สุดอยู่ในบรูไน อิหร่าน มอริเตเนีย ซาอุดีอาระเบีย เยเมน และในบางรัฐทางตอนเหนือของไนจีเรีย ซึ่งมีกฎหมายประหารชีวิตสำหรับกิจกรรมทางเพศของเพศกำเนิดเดียวกัน และใน 5 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน ปากีสถาน กาตาร์ โซมาเลีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่มีความชัดเจนทางกฎหมายแต่มีความผิดทางพฤตินัย และอาจใช้โทษประหารชีวิตได้
ขณะที่ หลายประเทศกฎหมายดั้งเดิมจะบังคับใช้กับผู้ชาย แต่ในปัจจุบันก็มีบทลงโทษสำหรับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงเช่นกัน
แนวโน้มทั่วโลกมีบรรยากาศในการยอมรับมากขึ้น เช่น ประเทศที่เคยมีกฎหมายเอาผิดก็ยกเลิก พิจารณาจากสถิติจาก ILGA แล้ว ในปี 1998 เป็นปีที่มีการลดกฎหมายลงโทษ LGBTQ+ มากที่สุด ทั้งหมด 5 ประเทศ โดยแอฟริกาใต้ได้ออกกฎหมายฉบับแรกที่ห้ามการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนด้วยเหตุผลของ “รสนิยมทางเพศ” ทำให้แอฟริกาใต้มีการยกเลิกกฎหมายลงโทษ LGBTQ+ และนอกจากนี้ยังมีอีก 4 ประเทศ อย่าง ไซปรัส คาซัสสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน มีการยกเลิกกฎหมายให้การเป็น LGBTQ+ ไม่มีความผิดทางอาญาในประเทศนั้นๆ
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 รัฐสภาของสิงคโปร์ ยกเลิกกฎหมายที่ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย ได้มีการบังคับใช้ใน พ.ศ. 2566 แต่ในเดือนเดียวกันนั้นเอง ศาลสูงในบาร์เบโดส ได้ออกกฎหมายที่กำหนดให้เพศเกย์มีความผิดทางกฎหมาย
หลายประเทศมีการพัฒนาส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ จนในขณะนี้ มี 33 ประเทศทั่วโลกที่ยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน และอีก 34 ประเทศให้การยอมรับการเป็นคู่ชีวิตของ LGBTQ+ แต่ในเวลาเดียวกันหลายประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางก็ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งมีการไล่ล่า เช่น มีการปลอมแปลงเพื่อหลอกล่อให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเปิดเผยตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่นในการหาคู่ต่าง ๆ
My Country Talks ร่วมกับสำนักข่าว TODAY ขอเชิญผู้ที่มีความสนใจ เข้าร่วมกิจกรรม The World Talks ที่จะชวนคนจากหลากหลายพื้นที่ของโลกมาแลกเปลี่ยนไอเดีย เรื่องราว มุมมอง ผ่านการสนทนาออนไลน์แบบ 1:1 ในวันที่ 25 มิ.ย. 2023
ผู้เข้าร่วมจะได้รับโอกาสพูดคุยกับผู้ที่มาจากต่างวัฒนธรรม ต่างบริบท ต่างแนวคิด โดยคัดจากการตอบคำถามในแง่มุมต่างๆ ทั้งเรื่องสภาพอากาศ รัสเซีย-ยูเครน ความเท่าเทียม ผู้อพยพ และประเด็นอื่นๆ
โดยระบบจะทำการจับคู่คุณกับคนที่มีแนวคิดไม่เหมือนกับคุณ ซึ่งอาจมาจากประเทศใดก็ได้ในโลก เพื่อที่จะได้มีโอกาสพูดคุยกันผ่านทางช่องทางออนไลน์
สำหรับกิจกรรม World Talks จะมีขึ้นในวันที่ 25 มิ.ย. 2023 ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 5,000 คน จากกว่า 100 ประเทศแล้ว
https://workpointtoday.com/lgbtqi-230613/#google_vignette
คุยกับ Gen AI