เลือกธีมสี

คนดังทำไมต้องถูก Bully? คุยกับ โฟร์ จือปาก Lazyloxy

‘บุคคลสาธารณะ’ คำนี้อาจเป็นคำที่สร้างสถานะที่กลายเป็นกรงขังบางอย่างให้กับคนคนนั้น โดยเฉพาะคนที่ทำอาชีพอยู่ในวงการบันเทิงอย่างนักแสดง ศิลปิน เน็ตไอดอล บล็อกเกอร์ทั้งหลาย กลายเป็นจุดสนใจให้สังคมจดจ้องและจับผิดพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งที่ออกไปในสื่อและไม่ได้ออกสื่อก็ตาม หลายครั้งความผิดพลาดเพียงนิดเดียว ก็ได้ทำให้บุคคลสาธารณะเหล่านี้ กลายเป็นเหยื่อของการ Cyberbully และคนทั้งโลกโซเชียลฯ ก็พร้อมกระหน่ำซ้ำเติมชนิดไม่มีข้อยกเว้น อย่างที่รับรู้กัน การถูก Cyberbully แม้เป็นเพียงคนธรรมดาทั่วไปก็เรียกว่าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้ว แต่การเป็นคนที่มีสปอร์ตไลท์ฉายตรงมาอยู่ตลอดเวลา ก็ยิ่งทำให้การ Cyberbully นั้น รุนแรงและเจ็บแสบกว่าหลายเท่านัก ชวนไปคุยประเด็นนี้กับ โฟร์ – ศกลรัตน์ วรอุไร ศิลปินและเน็ตไอดอลจากยุคแรกๆ ที่เผชิญกับการถูก bully มาแล้วเกือบทุกรูปแบบ, เอแคลร์ – ชาติศักดิ์ มหาทา หรือที่รู้จักกันในชื่อ จือปาก บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังที่เกือบชีวิตเปลี่ยนจากการเป็นแค่สิว และ ท็อป Lazyloxy – ปฐมภพ พูลกลั่น แร็พเปอร์รุ่นใหม่ไฟแรงที่ชื่อเสียงมาพร้อมกับกระแสโจมตีจากโซเชียลฯ พวกเขาจะสามารถเอาตัวรอดจากการตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร แล้วบทเรียนอะไรที่คนทั่วไป รวมถึงเด็กและเยาวชน จะสามารถเก็บไปใช้ในวันที่ถูก Cyberbully ได้บ้าง  

Tag:การบูลลี่,

โพสต์โดย: GenDHL

22

0

เมื่อเกิด Cyberbully เด็กไทยไม่กล้าบอกพ่อแม่? เข้าใจปัญหา Cyberbully ผ่านคนสองวัย

ไม่ใช่แค่การถูกตั้งโจทย์ให้ว่าต้องมีผลการศึกษาที่ยอดเยี่ยมสม่ำเสมอ แต่ยังต้องแบกรับความคาดหวังจากสังคมรอบข้างหรือครอบครัว ยังไม่นับเด็กไทยจำนวนไม่น้อย ต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ในการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ในแง่หนึ่ง อินเทอร์เน็ต อาจเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่ช่วยให้เด็กหลายคนได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเอง หรือได้ผ่อนคลายจากภาระต่างๆ ที่พวกเขาต้องแบกเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตก็ยังคงมีด้านมืดที่น่าเป็นกังวลด้วยเช่นกันหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต คือสิ่งที่เรียกว่า ‘การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์’ หรือ ‘Cyberbully’การศึกษาโครงการวิจัยการแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา สำรวจโดย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เมื่อปี 2561 พบลักษณะสำคัญของการกลั่นแกล้งกันว่า การถูกกลั่นแกล้งและการกลั่นแกล้ง มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ หรืออธิบายอีกทางหนึ่งคือ เมื่อเกิดการกลั่นแกล้ง มักมีการอยากกลั่นแกล้งกลับเพื่อล้างแค้นและเอาคืนข้อมูลนี้กำลังบอกอะไรกับเรา? นี่อาจแปลว่า คนรุ่นใหม่ในสังคมเรากำลังมีประสบการณ์อยู่ท่ามกลางการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ แถมยังดูเหมือนว่า มันจะกลายเป็นวงจรของการกลั่นแกล้ง และแก้แค้นเพื่อเอาคืนกันอย่างไม่รู้จบThe MATTER จึงชวนคนสองเจนเนอเรชั่น คนแรกคือ ญา-ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา นักเรียนวัยมัธยม ที่ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องการเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิตของเด็กไทย กับ แหม่ม-วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัย แม่ผู้เข้าใจคนรุ่นใหม่และเลี้ยงลูกไม่เหมือนใคร มาพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกันและกันเมื่อภาพปัญหาเป็นเช่นนี้ แล้วเราจะออกจากวงจรที่ว่านี้ได้อย่างไร? สถาบันทางสังคมที่เป็นหน่วยย่อยและสำคัญที่สุดสำหรับเด็กนักเรียนอย่างครบอครัวนั้น จะมีส่วนช่วยเหลือได้แค่ไหนบ้าง? ปัญหา Cyberbully ในบริบทชีวิตที่เปราะบางของคนหนุ่มสาวThe MATTER : เห็นว่า ญาเคยเจอเคสเรื่อง Cyberbully มาในหมู่ของเด็กนักเรียนปราชญา : เคยเจอเคสๆ หนึ่งค่ะ เป็นเคสของเด็กประถมปลายที่ถูกเด็กด้วยกันทำร้ายร่างกาย แล้วโดนอัดคลิปลงในเฟซบุ๊กของเด็กคนนั้นเอาไว้ หลังจากนั้นเด็กที่ถูกทำร้าย เขาเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ของเขาก็พยายามซัพพอร์ตดูแลมาโดยตลอดหลังจากนั้น พอเขาขึ้นไปเข้าโรงเรียนในช่วงของ ม.1 ต่อ ด้วยอาการที่เขาเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้เขาเหม่อลอย บางครั้งอาจจะไม่ค่อยตั้งใจเรียน ทำให้คุณครูมองว่าเด็กคนนี้ไม่ตั้งใจเรียนเลย และไปเล่าให้เด็ก เพื่อนห้องอื่นๆ ฟังว่าเด็กคนนี้ไม่ตั้งใจเรียน เหม่อลอยทั้งวันเลยแบบนี้เรียนเกรดไม่ได้ดีแน่นอนพอครูพูดอย่างนี้ค่ะมันเหมือนจุดเพลิง แล้วเด็กที่ได้ฟังๆ มาอย่างนี้ค่ะ ห้องไหน คนนี้หรือเปล่า ชื่อ A ใช่ไหมค่ะ หลังจากนั้นเขาโดน Bully ในโรงเรียน วีรพร : ด้วยเรื่องเก่าปราชญา : ใช่ค่ะ แล้วมีวันหนึ่ง มีคนที่เป็นเพื่อนกับเด็กคนนี้ เอาคลิปที่ถูกถ่ายไว้ไปเปิดต่อให้เพื่อนๆ ดู ค่ะ หลังจากนั้น เด็กคนนี้ก็ไปปรึกษาพ่อแม่แล้วว่าหนูเจอแบบนี้ หนูควรจะทำยังไงดี พ่อแม่ก็ตัดสินใจให้ลาออกจากโรงเรียนนั้นออกมาแต่ปัญหาของการ Cyberbully ที่มันแตกต่างจาก Bully ธรรมดา คือพอออกมาจากโรงเรียนแล้ว ต้องพบเจอกับ Cyberbully ด้วยการที่เด็กคนที่มา Bully เราในโรงเรียนนี้ค่ะ สร้างแอคเคาท์เฟซบุ๊กออกมาประมาณ 10 แอคเคาท์ เพื่อที่จะโพสต์คลิปนี้ลง แล้วก็รุนแรงถึงขึ้น คือโหลดรูปศพมาจากอินเทอร์เน็ต แล้วก็ตัดต่อหน้าเด็กคนนี้ใส่เข้าไปในเฟซบุ๊ก อันนี้ก็เป็นเคสๆ หนึ่งที่รู้สึกว่าปัญหาของการ Cyberbully มันเป็นปัญหาที่บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องแค่นี้เอง แต่จริงๆ แล้วมันส่งผลกระทบที่กว้างมาก สำหรับวัยรุ่นวีรพร : เราคิดว่ามันก็รุนแรงกับวัยอื่นๆ ด้วยเหมือนกันนะ หมายถึงว่าการ Bully ทั่วๆ ไป ก็สามารถสร้างผลกระเทือนที่แรงกว่าที่คาดไว้ได้นะคะ  The MATTER : พี่แหม่มคิดว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้วีรพร : พี่เข้าใจว่าสังคมค่อนข้างจะเปราะบางแล้วก็อ่อนแอ คือไม่ได้เฉพาะน้องที่ป่วย แต่ว่าน้องที่ Bully เองก็ป่วย อ่อนแอ พ่อแม่เองก็อ่อนแอนะคะ วีรพร : เหมือนกับว่าเขาได้พื้นที่ตรงนี้ด้วย ปราชญา : ใช่ค่ะ  อินเทอร์เน็ตและโลกของการเปรียบเทียบ ปัจจัยทำให้เกิด Cyberbully?ปราชญา : ถ้าสมมติว่าเราที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ถ้าเรามั่นใจในตัวเอง เรามั่นใจรูปลักษณ์ของเรา สิ่งที่เขามากระทำกับเรา คนที่เขามา Cyberbully กับเรา เขาจะมีผลกับเราไหมคะวีรพร : ไม่มีค่ะ แต่ว่าทีนี้เห็นไหมคะ คำถามเท่ากับว่าเรามองภาพกว้างขึ้นไปอีก Marketing ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โฆษณา คือหมายถึงว่าจริงๆ แล้วทางรัฐเอง ทางผู้ใหญ่เอง ทางคนในสังคมเองก็ควรจะระแวะระวังเรื่องนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สินค้าที่โฆษณาเหยียดผิวอย่างนี้ คนนี้ดำจังเลย คนนี้ขาวสวยอะไรอย่างนี้ คือถ้าเราไม่ระวังตรงนี้ตั้งแต่ต้น เราปล่อยให้สินค้าเอง ซึ่งมีความถี่ในการพูด มีเงินใช้ในการพูด กระเพื่อมไปเรื่อยๆ อย่างนี้เราก็สร้างฐานให้กับการ Bully ยาลดความอ้วน ก็ทำให้คนอ้วนกลายเป็นสัตว์ประหลาด ยาผิวขาวซึ่งก็ไม่รู้ทำให้ขาวจริงหรือเปล่า The MATTER : แล้วเราควรจะป้องกันสิ่งเหล่านี้ยังไง หรือความจำเป็นที่ต้องป้องกันมันมีแค่ไหนวีรพร : เมื่อมันมาถึงคำถามว่าเราต้องป้องกันตัวเองไหม เราควรจะเข้าใจว่าถ้าสมมติว่าใครสักคนเดินเข้ามาแล้วบอกว่า เธออ้วนจังเลย มันไม่ใช่ปัญหาของหนู เป็นปัญหาของคนที่พูดต่างหาก เพราะคนนี้ไม่เข้าใจว่าคนมีความหลากหลายเราจำเป็นต้องสอนคนรุ่นใหม่เหมือนกันว่า ความหลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ดีมีคนดำ ขาว น้ำตาล เหลือง ส้ม ใช่ไหมค่ะ มีคนอ้วน อ้วนมาก อ้วนน้อย ผอม ผอมเกิน ผอมพอดีๆ มันมีคนหลายๆ แบบ แล้วนี่ไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไรเลย เราอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลาย ในนี้เราพูดถึงในประเด็นที่น้อยๆ นะคะ ในประเด็นแบบรูปลักษณ์ภายนอกนะคะ แต่ว่าแน่นอนการ Bully มันเยอะกว่านั้น บางครั้งมันไม่ได้อยู่ในมิติแค่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้นปราชญา : สังคมของเรามันมีการแบบว่า มันถูกจัด Mindset มาให้คิดว่ามันต้องมีการเปรียบเทียบให้ต้องมีคนที่ดีกว่า ให้ต้องมีคนที่ด้อยกว่า ซึ่งถ้าสมมติว่าเราไม่รู้สึกอะไรกับคำพูดของคนเหล่านั้น เรารู้สึกว่าเราสามารถที่จะผ่านมันไปได้ หรือว่าเรารู้สึกว่าในเมื่อได้รับคำนี้มาแล้วเราจะไม่ไปตอบโต้กับคนอื่น หนูคิดว่าเราควรที่จะมีสกิลเหล่านั้น สกิลที่ทำให้เรามีภูมิต้านทานในจิตใจของตัวเองในการที่แบบว่ามีคนมากระทบกระทั่งจิตใจเรา แล้วเราสามารถที่จะก้าวผ่านมันไป เราสามารถที่จะไม่สนใจมันได้ แล้วเราจะไม่นำความรุนแรงนี้ส่งต่อให้กับคนอื่น  The MATTER : ฟังดูแล้ว Cyberbully มันก็ทำงานอย่างเป็นวงจรเหมือนกัน มีการโยงกันไปมาวีรพร : ทุกอย่างก็สืบทอดกันลงมา ก็โยงกันลงมาแบบนั้นทอดๆ เด็กก็อ่อนแอต่อการถูก Bully อ่อนแอพอที่จะ Bully คนอื่น เราไม่ได้สอนเด็กด้วยว่าการที่คุณไป Bully เขา คุณอ่อนแอนะ คุณเป็นเหยื่อนะ ไม่ใช่เขาผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อ คุณต่างหากที่ตกเป็นเหยื่อการกระทำของตัวเอง คุณต่างหากที่คิดว่าตัวเองมี Power เหนือคนอื่นด้วยการทำอะไรแบบนี้ปราชญา : มันอาจจะเป็นเพราะว่าค่านิยมของสังคม เรามักจะมีการเปรียบเทียบว่าขาวดีกว่าดำ สิ่งนี้มันมาจากค่านิยมที่คนมักมอง แล้วเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางค่านิยมแบบนี้ค่ะ ทำให้เขาแบบใช้ค่านิยมนี้ในการนำไป Bully คนอื่น เมื่อครอบครัวต้องเป็นที่พึ่งของเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งThe MATTER : เมื่อเกิด Cyberbully ขึ้นมาแล้ว ทำไมเด็กหลายคนไม่กล้าบอกหรือขอความช่วยเหลือจากครอบครัวปราชญา : คือเรากลัวที่เราทำให้พ่อแม่ผิดหวัง หรือพ่อแม่บางคนที่กดดันเรามากๆ ค่ะจนเราไม่กล้าที่จะมีข้ออะไรที่ทำให้เขาติได้ เราไม่กล้าที่จะถูกว่า เราไม่กล้าที่จะบอกพ่อแม่ว่าเราถูกทำร้าย ถูก Bully มาอะไรอย่างนี้ค่ะ เรามักจะเก็บมันไว้ในใจมากกว่าวีรพร : พี่พบว่าถึงบอกแล้ว พ่อแม่ของเราไม่เข้มแข็ง พ่อแม่ก็กลัวไปหมด ในส่วนของการที่ว่า ลูกกลัวว่าพ่อแม่จะผิดหวัง เพราะว่าพ่อแม่ผิดหวังง่ายไง ทำไมพ่อแม่ผิดหวังง่ายเพราะกูกลัวทุกอย่าง คือความจริงพ่อแม่ควรจะเข้าใจได้แล้วว่าการที่ลูกของเธอโดน Bully บ้างมันเป็นเรื่องธรรมดา การที่ลูกของเธอจะโดนครูใหญ่เรียกไปว่าบ้าง ก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าถ้าตัดผมผิดระเบียบหน่อยก็ไม่ได้เป็นอะไรเลย ไม่ได้ส่งผลต่อจักรวาลนี้เลย The MATTER : หรือก็เริ่มจากมุมมองของเราเองก่อนก็ได้ปราชญา : ถ้าเรามองจุดด้อยของคนอื่นให้เป็นความสามารถของเขา ให้เป็นสิ่งที่พิเศษของเขามันจะทำให้ปัญหาของการ Bully มันลดน้อยลง วีรพร : มันอาจจะไม่ได้ลดน้อยลง เพียงแต่ว่าทำให้เขามีภูมิต้านทานต่อสิ่งเหล่านี้มากขึ้น แน่นอน เขามีบางสิ่งบางอย่าง คนเราจะมีบางสิ่งบางอย่างที่คนอื่นไม่มีเสมอ อย่างน้อยๆ สุดพี่พบว่าเพื่อนพี่ที่รูปลักษณ์แตกต่างเป็นเพื่อนที่ดีมาก เป็นเพื่อนที่เข้าใจคนอื่นมากนะ อาจจะเพราะโดน Bully มาก่อนหรือเปล่าก็ไม่รู้นะคะปราชญา : มันอาจจะเป็นเพราะว่าการศึกษาไทยตอนนี้เราไม่ได้ให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วก็ตัวเองเป็นจริงๆวีรพร : ใช่ The MATTER : เป็นไปได้ไหมครับว่ายิ่งไม่ได้เป็นตัวเอง ภูมิคุ้มกันในความภูมิใจตัวเองมันก็ยิ่งน้อยลงวีรพร : แล้วในขณะนั้น มันอาจจะไม่ใช่แค่นั้น มันรวมถึงว่าคนรอบตัวก็ไม่เห็นด้วยไง คนรอบตัวก็มองข้ามสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการเป็นคุณ คนไม่สนใจว่าคุณนิสัยดี คนไม่สนใจว่าคุณร้องเพลงเพราะ คนสนใจว่าคุณได้ที่หนึ่งไหม คุณเป็นหมอไหม คุณเป็นไม่กี่อย่างที่เขาอยากได้ พ่อแม่คุณก็เลยพาลเป็นไปด้วย แล้วก็เกิดการ Bully สำหรับคนที่เป็นไปไม่ได้ เราควรจะมีโรงเรียนสำหรับพ่อแม่ คือพ่อแม่ควรจะเริ่มเข้าใจได้แล้วว่า หน้าที่ของเขาไม่ใช่การปั้นเด็กทารกหนึ่งคนในช่วงเวลา 20 ปีผ่านระบบการศึกษาและอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อที่จะเป็นบางสิ่งบางอย่าง แต่ว่า 20 ปีนั้น คือการแสวงหาความเป็นไปได้ที่คนหนึ่งคนจะสามารถเป็นไปได้ และมีชีวิตที่ดีได้นะ เราไม่ต้องพูดถึงชีวิตที่มีความสุขนะ แต่ดูเหมือนว่าเจตจำนงของพ่อแม่เองก็ผิดพลาด คือพ่อแม่มีความรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ฉันนะที่จะต้องทำให้ลูกของฉันเป็นคนดีออกมาอยู่ในสังคม เป็นคนมีความสามารถเป็นคุณประโยชน์คุณปกรต่อประเทศชาติ  เข้าใจปัญหา Cyberbully และสร้างพื้นที่ระหว่างเด็กและครอบครัวThe MATTER : ย้อนกลับมาที่เรื่องครอบครัว เมื่อภาพปัญหามันใหญ่แบบนี้ ครอบครัวและโรงเรียนจะช่วยเหลือเด็กๆ ได้ยังไงบ้างปราชญา : อย่างหนึ่งที่เด็กไม่กล้าไปปรึกษาพ่อแม่ เป็นเพราะว่าอย่างที่พี่แหม่มบอกว่าเขาซ้ำเติม สมมติว่าเราบอกเขาว่าเราโดนเพื่อนว่าเรียนไม่เก่ง พ่อแม่บอกแล้วทำไมถึงเรียนไม่เก่งหล่ะ ก็แกไม่ตั้งใจเรียนหนิ ทำไมแกถึงไม่ตั้งใจเรียน  The MATTER : อะไรคืออันตรายของสภาพปัญหาแบบนี้ ที่จะส่งผลต่อเรื่อง Cyberbullyปราชญา : มันเหมือนว่าพอเราพบเจอกับความเจ็บปวดแล้ว เราไม่รู้วิธีเคลียร์มัน แต่ว่าเรารู้แค่ว่าฉันต้องผลักมันออกไปจากฉัน คือผลักมันออกไปแล้วฉันจะต้องรู้สึกดีขึ้นอะไรประมาณนี้ค่ะ มันเลยทำให้ปัญหานี้มันแพร่ออกไปเรื่อยๆ วีรพร : เห็นไหมเรื่อง Bully เป็นเรื่องของคนอ่อนแอ เป็นเรื่องของความเปราะบางโดยแท้ คือถ้าผู้คนบอกว่านี่ไม่ใช่ปัญหาฉัน ปัญหาเธอต่างหากที่มา Bully ฉัน อะไรอย่างนี้เรื่องมันก็จะแบบว่าหยุดอยู่แค่ตรงนั้นเลย แทนที่จะทำตัวเหนือด้วย บางทีก็แบบว่าโชว์เหนืออีก หรือไม่งั้นก็ผลิตซ้ำ ไปเรื่อยๆ เหมือนโรคระบาดอะไรอย่างนี้ น่ากลัวจัง  The MATTER : เราจะออกจากวงจรนี้ยังไงครับปราชญา : คือถ้าไม่มีใครสักคนหนึ่งที่จะหยุดพวกเขา เพื่อให้เขาเรียนรู้แล้วเข้าใจว่าเราไม่ควรที่จะเอาความเจ็บปวดนี้ไปสู่คนอื่น ญาคิดว่ามันจะสามารถที่จะหยุดวงจรนี้ได้ แต่ถ้าสมมติว่ามันยังเป็นคนเดิมๆ ที่คิดแบบเดิมๆ ก็จะยังอยู่เรื่อยๆ วีรพร : อีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า เรายังไม่เป็นชนชาติที่ไม่มีงานอดิเรกด้วย แล้วในขณะที่เด็กถูกสั่งให้เรียนเยอะมาก คือไปโรงเรียน 6 ชั่วโมงแล้วต่อวัน เสร็จแล้วต้องไปเรียนพิเศษอีกในตอนเย็นหรือว่าจริงๆ คุณอาจจะเรียนดนตรี หรืออะไรเพิ่มขึ้นมา ที่พ่อแม่บังคับ คือเราควรจะมีงานอดิเรก เช่น ทำฟาร์มจิ้งหรีด เล่นปลากัด เล่นเครื่องสำอาง ปลูกต้นไม้ หรืออะไรอย่างนี้ เพื่อที่จริงๆ หมกมุ่นกับตัวเองด้วย ปราชญา : สรุปแล้วมันก็คือเรื่องที่เด็กควรที่จะมีพื้นที่สร้างสรรค์ วีรพร : เรื่อง Bully โดยตัวของมันเองแล้ว ถ้าเกิดเราล้อไปแล้วมันไม่มีแรงกระเพื่อม มันก็หยุดล้อเองถูกไหม หรือว่าถ้าเกิดว่าล้อไปคนถูกล้อไม่ Suffer ไม่คร่ำครวญ ไม่รู้สึกแย่เห็นคาตา มันก็ไม่สนุกอีก ใช่ไหมคะ กลไกนี้ก็จะหายไปเอง The MATTER : สุดท้ายแล้ว ทั้งสองคนคิดว่าครอบครัวจะเป็นความหวังให้เด็กออกจากวงจร Cyberbully ได้ไหมวีรพร : ครอบครัวควรจะช่วยได้ เพียงแต่ว่ามันล้าหลังไง เราอยู่ในประเทศที่มีปัญหาทางความคิดพอประมาณหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นในขณะเดียวกัน พี่พบว่าเด็กรุ่นใหม่ หรือเด็กรุ่นน้องญาอย่างนี้ เขาโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต พี่หวังว่าเด็กเขาจะโตด้วยตัวเขาเอง เหมือนจริงๆ ทุกวันนี้ พี่ก็พบว่าเด็กฉลาดกว่าที่เขาคิดว่าเขาเป็น โลกนี้ต่างหากที่พยายามกดเด็กลงแล้วถ้าเกิดไม่มีใครบอกคุณว่าคุณทำได้ พี่บอกคุณ คุณต้องยืนด้วยตัวคุณเอง มันไม่ได้สำคัญที่ผู้กระทำ แต่อยู่ที่ผู้ถูกกระทำมากกว่า คุณจะเยียวยากันเองได้ คุณจะเติบโตอย่างเข้มแข็งไปพร้อมๆ กันได้ คุณจะเป็นปราการซึ่งกันและกันได้ปราชญา : สำหรับญาคิดว่าครอบครัวเป็นเหมือนลำต้นค่ะ ลูกหลานก็คือเป็นเหมือนกิ่งก้านที่ออกมา ถ้าสมมติว่าลำต้นไม่สามารถที่จะดูดแร่ธาตุอาหารขึ้นมา มันก็อาจจะไม่ถึงกิ่งวีรพร : จริงๆ แล้วผู้ใหญ่เองก็ควรจะเข้ามาอยู่ในนี้ด้วยเหมือนกัน สมมติว่าน้องสร้าง Space ขึ้นมา พ่อแม่ก็ควรจะเข้ามาเหมือนกัน ใช่ไหมคะ แทนที่เราจะแยก Space อยู่ตลอดเวลา นี่คือ Space เด็ก นี่คือ Space ผู้ใหญ่ อะไรอย่างนี้ แล้วก็แน่นอนแหละ มันก็จะมีผู้ใหญ่บางพวกที่ไม่อยากจะเข้ามา เพราะว่าฉันเป็นผู้ใหญ่นะ อะไรอย่างนี้ ซึ่งล้าสมัยมาก มันไม่ช่วยให้คุณไปไหนได้เลย ไม่ช่วยให้คุณเข้าใจเด็กด้วย 

Tag:การบูลลี่,

โพสต์โดย: GenDHL

23

0

Cyberbully ในโรงเรียนแค่ล้อเล่นหรือต้องหาทางออก?

ก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ออกมาเจอกับโลกกว้าง ทุกคนย่อมผ่านวัยเด็ก วัยที่มีแค่บ้านกับโรงเรียน วัยที่ปัญหารอบตัวคือเรื่องใหญ่โตเสมอ แต่เพียงเวลาผ่านไปไม่กี่สิบปี เทคโนโลยีได้เปิดโลกอีกใบให้กับเด็กนั่นคือโลกออนไลน์ กับหลายคน โลกแห่งนี้แสดงออกถึงความคิดความเห็นได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเปิดเผยใบหน้า และกับบางคนที่บางทีก็รู้สึกเหมือนว่าโลกเสมือนจริงแห่งนี้ไม่ใช่โลกของเรา เพราะเต็มไปด้วยคำพูดทิ่มแทงโดยคนแปลกหน้าที่อาจจะใกล้ตัวมากจนไม่อยากนึกถึง เสียงพูดจา ที่ดังกว่าเสียงขอความช่วยเหลือ“หนูมีเพื่อนคนหนึ่ง เขาเป็นเน็ตไอดอลหน้าตาน่ารัก ก็โดนหาว่าแอ๊บค่ะ สุดท้ายคือเขาก็ต้องออกจากโรงเรียนไป เพราะด้วยบุคลิกของเขาเป็นคนไม่ค่อยเข้าหาคนด้วย”“การพูดหยอกล้อเรื่องรูปร่างหน้าตาค่ะ จริงๆ ด้วยความเป็นเพื่อนกันก็เลยไม่ค่อยซีเรียส แต่ถ้ากับคนไม่สนิทก็คิดว่านี่เป็นการบุลลี่แบบหนึ่ง”หลายครั้งที่ความช่วยเหลือไม่ถูกส่งเสียงออกมา เพียงเพราะเจ้าตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร หรือคุ้มค่าแค่ไหนกับการต้องพยายามแก้ปัญหาที่เจ้าตัวไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหาด้วยซ้ำ หากแต่แท้จริงในจิตใต้สำนึกของวัยรุ่นหลายกลุ่มต่างก็มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหารุนแรง ที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรจะต้องเจอกับเรื่องเหล่านี้“สำหรับหนู เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะคะ เพราะมันกระทบทางจิตใจ ถ้าสะสมมากเข้าจนพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า มันทำลายชีวิตคนๆ หนึ่งได้เลยนะคะ มันเป็นเรื่องใหญ่ที่มาจากเรื่องเล็กๆ ที่เกิดจากแค่ความสนุกปากของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าโดนเอง อาจจะเลือกโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิต เพราะน่าจะให้คำตอบที่ถูกทางค่ะ” โรงเรียน พื้นที่ควรปลอดภัยความคิดเห็นหนึ่งของครูมด – ณัฐวรา วงศ์ศรีแก้ว ในฐานะคุณครูแสดงให้เราเห็นว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากพื้นที่ออฟไลน์อย่างในโรงเรียนก่อน แล้วค่อยขยายวงเข้าไปสู่โซเชียลซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโพสต์สื่อสารทางเดียว เน้นเป็นพื้นที่เพื่อการระบายกับทุกเรื่องตั้งแต่ปัญหาส่วนตัวจนถึงเรื่องที่ขัดใจ หลายครั้งที่คลุมเครือจนกลายเป็นปัญหาใหญ่วกกลับมาในการใช้ชีวิตจริงประจำวัน“ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กที่เด่นเกินไป หรือเก่งเกินไป แล้วไม่ค่อยเข้าสังคมกับเพื่อนเลย บวกกับเด็กทุกวันนี้ระบายทุกอย่างลงบนโซเชียลมีเดียถึงจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ชนวนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ว่า ไม่รู้ว่าต้นทางโพสต์ถึงใคร แล้วพอเหตุการณ์พึ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน อีกฝั่งก็คิดว่าเป็นตัวเอง ปัญหาบางทีก็เกิดขึ้นจากในห้องเรียนนี่เอง”การป้องกันปัญหาส่วนหนึ่งของคุณครูคือการใช้กิจกรรมเข้ามาช่วย เพื่อมองหาความผิดปกติท่ามกลางเด็กจำนวนมากๆ อย่างของคุณครูมด ก็เลือกในตารางเพื่อนสนิทช่วยในการหากลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาถูกบุลลี่ได้ในอนาคต“วิธีคือให้นักเรียนเขียนชื่อเพื่อนสนิทลงในกระดาษ พอเขียนเสร็จคุณครูก็เก็บรวบรวมมา จากนั้นแล้วคุณครูเองก็กลับเอาไปทำเป็นการบ้าน ด้วยการโยงเส้นว่าแต่ละคนสนิทกับใคร จนครบทุกแผ่น คุณครูก็จะเห็นได้ในภาพรวมผ่านชาร์ตนี้เลยว่า จะมีนักเรียนอยู่แค่ไม่กี่คนที่ไม่มีเพื่อนโยงไปหาเลย ตัวนี้จะเป็นการบ่งบอกได้ว่าเด็กคนนี้เริ่มมีปัญหาแล้ว มีแนวโน้มถูกบุลลี่ วิธีการแก้ก็คือครูจะช่วยปรับความเข้าใจกับเขาว่ามนุษย์เรามีรากฐานจิตใจอย่างไร ให้เขาเข้าใจในการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ค่ะ” Cyberbully ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์จากทรรศนะโดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์  ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เท้าความคำว่า Bullying ในเชิงภาษาที่สัมพันธ์กับสภาพการณ์ทางสังคม “จริงๆ Cyber Bullying มันเป็นรูปแบบหนึ่งของ Bullying ซึ่งโดยตัวมันเอง มันหมายถึงการรังแก ซึ่งไปทับซ้อนกับการแกล้งกัน ซึ่งในสังคมไทยมันมีความหมายถึงความสนิทสนม การหยอกล้อและความสัมพันธ์ในเรื่องส่วนตัว แต่รังแกมันหมายความถึงในด้านลบเสียมากกว่า มันจึงทับซ้อนกันอยู่ระหว่างข้อดีของความสัมพันธ์ที่สนิทสนม กับข้อเสียของการทำร้ายความรู้สึก ทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจ”เทคโนโลยีคือตัวแปรสำคัญที่เข้ามาขยายวงของการบุลลี่ จากเดิมที่การบุลลี่ทางกายภาพอาจต้องยกพวกเยอะกว่าถึงจะมีโอกาสชนะมากกว่า แต่โซเชียลมีเดียเข้ามาสร้างความเท่าเทียมบนพื้นที่ของการแสดงออก นั่นทำให้ความสามารถในการบุลลี่ของทุกคนใกล้เคียงกันมากขึ้น“จากงานวิจัยเราพบว่า ในเด็กยุคใหม่คนที่ถูกรังแกและคนที่รังแกคนอื่น มันมีสัดส่วนเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แปลว่ามันมีการเอาคืนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนอกจากนี้เราพบว่าจุดเริ่มต้นก็คือมันจะเริ่มจากการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางวาจา แล้วก็ไปสู่ทางร่างกาย ไปสู่ทางสังคม แล้วก็ทางสังคมนี่แหละมันจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการ Cyberbullying ซึ่งเทคโนโลยีมันทำให้รูปแบบการ บุลลี่ไปสู่ Cyber มันเลวร้ายมากขึ้น ปริมาณเยอะขึ้น ถึงแม้ความเจ็บปวดทางกายอาจจะไม่ได้เยอะ แต่ความเจ็บปวดทางใจมันจะรุนแรง เพราะลักษณะของการทำร้ายกันผ่าน Cyber จะวนเป็นลูปไปกลับอย่างไม่จบสิ้น” เปิดตาดู​ เปิดใจฟังแล้วทางใดบ้างที่จะตัดขาดทำลายลูปของการกลั่นแกล้งนี้ลงได้?​ ดร.ธานี ได้ให้คำแนะนำ 2 แบบ เริ่มจากทางออกระยะยาวซึ่งอยู่บนพื้นฐานของอุดมคติ นั่นคือความเข้าใจระหว่างครอบครัวที่เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงตัวตนของตัวเอง และกิจกรรมในโรงเรียนที่ควรเปิดกว้างมากพอให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตัวเอง เพื่อสร้างให้ทุกคนมีพื้นที่เป็นของตัวเอง พื้นที่ที่สบายใจและทำสิ่งที่สนใจเหล่านั้นได้ดี หากแต่ทางออกระยะยาวถูกสกัดกั้นด้วยความไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ให้กับคนรอบตัว สายด่วนหรือบริการแชตก็อาจเป็นทางออกที่ดีสำหรับเด็กยุคโซเชียล เป็นพื้นที่ให้คำปรึกษาที่สบายใจ บรรเทาความรู้สึกหนักอึ้งลงไปได้สุดท้ายแล้ว การที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ทั้งในบทบาทลูก-พ่อแม่ หรือนักเรียน-คุณครู ลองเปิดตาดู เปิดใจฟัง น่าจะเป็นการค้นหาทางออกร่วมกันที่ดีที่สุด “ผู้ใหญ่ยังไม่ได้สนใจเรื่องนี้ที่เกิดกับเด็ก เพราะว่ารู้สึกว่าเป็นเรื่องเด็กแกล้งกัน ทำไมอดทนไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าถ้าคุยกับเด็กเกือบทุกคนตอนนี้ เรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นคำแนะนำของผมก็คือทำอย่างไรให้เรื่องนี้เป็นที่สนใจในสังคมก็คือ เปิดตาดูแล้วจะเห็น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้วสำหรับเด็ก แต่แค่ผู้ใหญ่เรามองไม่เห็นเท่านั้นเอง”

Tag:การบูลลี่,

โพสต์โดย: GenDHL

13

0

หรือเรากำลังถูก Cyberbullying? 5 วิธีแกล้งบนโลกออนไลน์

ว่ากันว่าความเจ็บปวดของมนุษย์ที่รุนแรงที่สุดคือ “ความละอายใจ” เพราะมันมีประสิทธิภาพในการลงโทษมากกว่าความรู้สึกอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความละอายใจบนโลกออนไลน์ เมื่อสังคมปัจจุบันย้ายจากโลกความเป็นจริงมาอยู่บนโลกออนไลน์ พฤติกรรมการกลั่นแกล้งที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ปิด เริ่มขยายวงกว้างสู่สาธารณะชน การกลั่นแกล้งออนไลน์ หรือ Cyberbullying จึงเพิ่มอนุภาพการทำลายล้างจิตใจให้รุนแรงมากกว่าเดิมน่าเศร้าที่บางครั้งเราเองนั่นแหละเป็นคนแกล้งคนอื่นโดยไม่รู้ หรือบางทีเราก็ถูกแกล้งโดยไม่รู้ตัวเช่นกันในเมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นโลกจำลองที่คุณเป็นใครก็ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณจะทำอะไรก็ได้ ลองมาสำรวจ 5 พฤติกรรมการกลั่นแกล้งออนไลน์ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่หารู้ไม่ว่า เรื่องนี้แค่นี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่านั้นหลายเท่า วิธีที่ 1 รุมด่าในคอมเมนต์อย่างสะใจเริ่มต้นสเต็ปพื้นฐานกับการเป็นเกรียนคีย์บอร์ดเลเวลสามัญชน พฤติกรรมง่ายๆ แต่จิ้มจอพิมพ์ด่ากราดด้วยถ้อยคำหยาบคายที่สุดเท่าที่จะนึกออก ทางที่ดีควรตอกย้ำปมหน้าตา น้ำหนัก ส่วนสูง หรือรสนิยม ทำยังไงก็ได้ให้เหยื่อเสียความมั่นใจมากที่สุด การกระทำแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการเทอราพีตัวเองด้วยความสนุกสนาน เอามัน และระบายความอัดอั้นตันใจด้วยการหาใครสักคนมาเป็นเหยื่อนั่นเองแอดวานซ์หน่อยอาจเพิ่มสกิลหมาหมู่ออนไลน์ ลากเพื่อนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันมารุมด่าในคอนเมนต์ ถ้ายังมันไม่พอต้องสวมวิญญาณนักแคปฯ​ ในตำนาน แคปความตลกของเหยื่อมาโพสต์ประจานต่อ ถ้าเหยื่อนั้นลบโพสต์หรือปิดแอคเคาท์หนี เท่ากับว่า คุณทำสำเร็จแล้วอ่อ… อย่าลืมสร้างแอคเคาท์ตัวเองเป็นอวตารปลอมด้วยนะ เดี๋ยวโป๊ะแตกถูกจับได้ว่าเป็นใคร แล้วสนุกจะลดลงครึ่งหนึ่ง วิธีที่ 2 #รับงานนะคะ เอาภาพมาตัดต่อเพื่อความเร้าใจเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีโปรแกรมรีทัชพัฒนาไปไหนต่อไหนแล้ว ขนาดงานอีเวนท์คนน้อยๆ ยังสามารถรีทัชเพิ่มคนให้ดูเยอะๆ ได้เลย นับประสาอะไรกับแค่เซฟภาพใครสักคนมาตัดต่อกับรูปโป๊ เปลี่ยนหน้าตา แล้วใส่ข้อความ #รับงานนะคะ ก่อนส่งให้เพื่อนๆ ดู สร้างความขบขันในหมู่คณะแต่ถ้าอยากสนุกขึ้นไปอีกขั้น ก็แค่ขยับสเกลจากความสนุกของผองเพื่อนมาเป็นเรื่องนี้โลกต้องรู้ โยนภาพพร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อเข้ากลุ่มสวิงกิ้งตามกลุ่มไลน์ต่างๆ เพื่อให้สาธารณชนติดต่อไปใช้บริการ ปิดท้ายเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยการ #ส่งการบ้าน รีวิวการใช้บริการว่าเนียนแน่นขนาดไหนเพียงเท่านี้เหยื่อของเราจะเจ็บแสบสันไปถึงทรวง ทะลวงไปถึงขั้วหัวใจ ขณะที่เรารู้สึกสนุกสุดยอดไปเลย วิธีที่ 3 “ออกไปจากกลุ่มนี้ซะ!” There are no shared moments, yet.สเต็ปต่อมาที่สร้างความเจ็บระดับหัวร้อน คือการบอกว่า “น่ารำคาญ” แล้วเตะออกจากกลุ่มไลน์ไปเลย ข้อดีอย่างหนึ่งคือการประกาศตัวชัดเจนว่า “แกไม่ใช่พวกฉัน” พร้อมตั้งมายเซ็ตว่าอย่าสะเออะเข้ามาอีกละ พอเข้ามาก็เตะ เอะอะๆ ก็เตะ เอะอะๆ ก็เตะ แล้วนางจะรู้สึกว่า “เอ้อ! ไม่อยู่ในกลุ่มแล้วก็ได้เว้ย”ลองคิดดูว่ามนุษย์ (ที่เป็นสังคม) โดนไล่ไสหัวออกจากกลุ่มแล้วจะรู้สึกอย่างไร คงจะคล้ายหมาหัวเน่าที่ไม่มีใครรัก จิตใจห่อเหี่ยว และค่อยๆ เฉาตายตามกาลเวลา ซึ่งถามว่านักบูลลี่อย่างเราสนใจไหม? ตอบด้วยการมองเชิด ชูนิ้วชี้วาดเป็นตัว S พร้อมสะบัดหัวว่า “ฉันไม่แคร์” วิธีที่ 4 เฮ้ย! เพื่อนลืมล็อคเอาท์ โพสต์อะไรสนุกๆ กันดีกว่าวิธีนี้จะเกิดขึ้นได้ต้อง “ถูกที่ถูกเวลา” ไม่ต่างอะไรกับพรหมลิขิตที่ขีดเขียนให้เราเดิน เพราะมันต้องเป็นโมเมนต์ที่เหยื่อลุกไปทำเข้าห้องน้ำ พร้อมๆ กับการลืมล็อกเอาท์โซเชียลมีเดีย ทีนี้แหละก็เหมือนนรกเปิดทางให้เรา ที่เหลือก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการตั้งโพสต์ให้พิสดารที่สุดเท่าที่จะทำได้ความสำเร็จของวิธีนี้ คือโพสต์ของเรามีคนกดไลก์มากกว่าโพสต์ปกติของเหยื่ออีก เพียงเท่านี้ความภาคภูมิใจก็ล้นทะลักจนยิ้มแก้มปริไปสองสามวัน วิธีที่ 5 ก็อปนู้น ก็อปนี่ ฉันจะยึดร่างเธอตามตำนานด็อปเปิลแกงเกอร์ (Doppelganger) หรือแฝดปีศาจ มีไอเดียว่า เราต่างเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของตัวเอง ไอเดียนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ จอร์แดน พีล สร้างหนังเรื่อง US ออกมา โดยตัวร้ายจะมีใบหน้าเหมือนตัวเอกทั้งหมดนั่นเองและนี่ก็เป็นแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยมให้เราจะลองสวมบทบาทเป็นด็อปเปิลแกงเกอร์ของเหยื่อบ้าง ซึ่งไม่ใช่การสวมบทบาทในโลกแห่งความจริงนะ แต่เป็นโลกออนไลน์แทน โดยการสร้างโซเชียลมีเดียแอคเคาท์ใหม่ ก็อปทั้งรูป ทั้งโปรไฟล์ กระทั่งถึงโพสต์ไลฟ์สไตล์ปกติที่เหยื่อทำกันก่อนจะอีโวลูชันสร้างโลกคู่ขนาน เอาแอคเคาท์โคลนนิ่งนี้ไปกระทำการอันร้ายกาจต่างๆ นานา เพราะผลกระทบทั้งหมดจะตกไปที่เหยื่อให้เป็นผู้รับกรรมแทน ส่วนเรานั้นก็เสพสุขต่อไป #เรื่องแค่นี้เอง ที่ผลลัพธ์ไม่แค่นั้นจะว่าไปแล้วความกลั่นแกล้งแบบนี้เป็นความรุนแรงรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมเทคโนโลยี โดยผู้กระทำสามารถเป็นใครก็ได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน โลกออนไลน์จึงถูกนำมาใช้เป็นช่องทางในการใส่ร้าย โจมตี และกลั่นแกล้งผู้อื่น น่าเศร้าที่ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหานี้โดยตรงประกอบกับความเข้าใจผิดระหว่างการหยอกล้อ (tease) ที่เกิดจากความสนิทสนมโดยไม่มีเจตนาร้าย กับการกลั่นแกล้ง (bully) ที่สร้างปัญหา ทำให้ปัจจุบันความรุนแรงประเภทนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆเห็นได้จากรายงานผลโครงการวิจัยการแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อกันยายน 2561 ที่ระบุว่า มีนักเรียนจำนวนมากถึงร้อยละ 91 ที่เคยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน และมีจำนวนร้อยละเกือบ 30 ที่เคยถูกกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ ทั้งนี้ผู้กระทำการแกล้งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ขณะที่ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็น LGBT นับเป็นปัญหาที่เราควรจะหันหน้าใส่ใจกันอย่างจริงเสียทีการกระทำทั้ง 5 ที่กล่าวมา ดูเผินๆ อาจเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่ใครๆ ก็ทำกัน ทว่าความจริงแล้ว ผลลัพธ์ของเรื่องแค่นี้กลับมีความรุนแรงมากกว่านั้น โดยเฉพาะการทำให้เหยื่อมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่ำลง วิตกกังวล ซึมเศร้า มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เครียด แปลกแยก ไม่อยากไปโรงเรียน หรือแม้กระทั่งอยากฆ่าตัวตายเราหวังว่าทุกคนจะฉุกคิดก่อนจะกระทำการใดๆ ที่เข้าข่ายคัมภีร์หนังสุนัขเล่มนี้ เพราะบางที… เราก็อาจกำลังกลั่นแกล้งโดยไม่รู้ตัว

Tag:การบูลลี่,

โพสต์โดย: GenDHL

34

0

เราต่างก็อยู่ในวงจรการบูลลี่โดยไม่รู้ตัว #หยุดทุกการบูลลี่

Tag:การบูลลี่,

โพสต์โดย: GenDHL

93

0

บูลลี่ในโรงเรียน หยุดได้ด้วยนักเรียน

Tag:การบูลลี่,

โพสต์โดย: GenDHL

46

0

เลขที่ 88 ถนนติวานนท์ 3 (แยก 16) ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

02 968 8019

02 968 9885

คุยกับ Gen AI