GenDHL
34
0
เมื่อสังคมปัจจุบันย้ายจากโลกความเป็นจริงมาอยู่บนโลกออนไลน์ พฤติกรรมการกลั่นแกล้งที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ปิด เริ่มขยายวงกว้างสู่สาธารณะชน การกลั่นแกล้งออนไลน์ หรือ Cyberbullying จึงเพิ่มอนุภาพการทำลายล้างจิตใจให้รุนแรงมากกว่าเดิม
น่าเศร้าที่บางครั้งเราเองนั่นแหละเป็นคนแกล้งคนอื่นโดยไม่รู้ หรือบางทีเราก็ถูกแกล้งโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน
ในเมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นโลกจำลองที่คุณเป็นใครก็ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณจะทำอะไรก็ได้ ลองมาสำรวจ 5 พฤติกรรมการกลั่นแกล้งออนไลน์ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่หารู้ไม่ว่า เรื่องนี้แค่นี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่านั้นหลายเท่า
เริ่มต้นสเต็ปพื้นฐานกับการเป็นเกรียนคีย์บอร์ดเลเวลสามัญชน พฤติกรรมง่ายๆ แต่จิ้มจอพิมพ์ด่ากราดด้วยถ้อยคำหยาบคายที่สุดเท่าที่จะนึกออก ทางที่ดีควรตอกย้ำปมหน้าตา น้ำหนัก ส่วนสูง หรือรสนิยม ทำยังไงก็ได้ให้เหยื่อเสียความมั่นใจมากที่สุด การกระทำแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการเทอราพีตัวเองด้วยความสนุกสนาน เอามัน และระบายความอัดอั้นตันใจด้วยการหาใครสักคนมาเป็นเหยื่อนั่นเอง
แอดวานซ์หน่อยอาจเพิ่มสกิลหมาหมู่ออนไลน์ ลากเพื่อนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันมารุมด่าในคอนเมนต์ ถ้ายังมันไม่พอต้องสวมวิญญาณนักแคปฯ ในตำนาน แคปความตลกของเหยื่อมาโพสต์ประจานต่อ ถ้าเหยื่อนั้นลบโพสต์หรือปิดแอคเคาท์หนี เท่ากับว่า คุณทำสำเร็จแล้ว
อ่อ… อย่าลืมสร้างแอคเคาท์ตัวเองเป็นอวตารปลอมด้วยนะ เดี๋ยวโป๊ะแตกถูกจับได้ว่าเป็นใคร แล้วสนุกจะลดลงครึ่งหนึ่ง
เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีโปรแกรมรีทัชพัฒนาไปไหนต่อไหนแล้ว ขนาดงานอีเวนท์คนน้อยๆ ยังสามารถรีทัชเพิ่มคนให้ดูเยอะๆ ได้เลย นับประสาอะไรกับแค่เซฟภาพใครสักคนมาตัดต่อกับรูปโป๊ เปลี่ยนหน้าตา แล้วใส่ข้อความ #รับงานนะคะ ก่อนส่งให้เพื่อนๆ ดู สร้างความขบขันในหมู่คณะ
แต่ถ้าอยากสนุกขึ้นไปอีกขั้น ก็แค่ขยับสเกลจากความสนุกของผองเพื่อนมาเป็นเรื่องนี้โลกต้องรู้ โยนภาพพร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อเข้ากลุ่มสวิงกิ้งตามกลุ่มไลน์ต่างๆ เพื่อให้สาธารณชนติดต่อไปใช้บริการ ปิดท้ายเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยการ #ส่งการบ้าน รีวิวการใช้บริการว่าเนียนแน่นขนาดไหน
เพียงเท่านี้เหยื่อของเราจะเจ็บแสบสันไปถึงทรวง ทะลวงไปถึงขั้วหัวใจ ขณะที่เรารู้สึกสนุกสุดยอดไปเลย
สเต็ปต่อมาที่สร้างความเจ็บระดับหัวร้อน คือการบอกว่า “น่ารำคาญ” แล้วเตะออกจากกลุ่มไลน์ไปเลย ข้อดีอย่างหนึ่งคือการประกาศตัวชัดเจนว่า “แกไม่ใช่พวกฉัน” พร้อมตั้งมายเซ็ตว่าอย่าสะเออะเข้ามาอีกละ พอเข้ามาก็เตะ เอะอะๆ ก็เตะ เอะอะๆ ก็เตะ แล้วนางจะรู้สึกว่า “เอ้อ! ไม่อยู่ในกลุ่มแล้วก็ได้เว้ย”
ลองคิดดูว่ามนุษย์ (ที่เป็นสังคม) โดนไล่ไสหัวออกจากกลุ่มแล้วจะรู้สึกอย่างไร คงจะคล้ายหมาหัวเน่าที่ไม่มีใครรัก จิตใจห่อเหี่ยว และค่อยๆ เฉาตายตามกาลเวลา ซึ่งถามว่านักบูลลี่อย่างเราสนใจไหม? ตอบด้วยการมองเชิด ชูนิ้วชี้วาดเป็นตัว S พร้อมสะบัดหัวว่า “ฉันไม่แคร์”
วิธีนี้จะเกิดขึ้นได้ต้อง “ถูกที่ถูกเวลา” ไม่ต่างอะไรกับพรหมลิขิตที่ขีดเขียนให้เราเดิน เพราะมันต้องเป็นโมเมนต์ที่เหยื่อลุกไปทำเข้าห้องน้ำ พร้อมๆ กับการลืมล็อกเอาท์โซเชียลมีเดีย ทีนี้แหละก็เหมือนนรกเปิดทางให้เรา ที่เหลือก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการตั้งโพสต์ให้พิสดารที่สุดเท่าที่จะทำได้
ความสำเร็จของวิธีนี้ คือโพสต์ของเรามีคนกดไลก์มากกว่าโพสต์ปกติของเหยื่ออีก เพียงเท่านี้ความภาคภูมิใจก็ล้นทะลักจนยิ้มแก้มปริไปสองสามวัน
ตามตำนานด็อปเปิลแกงเกอร์ (Doppelganger) หรือแฝดปีศาจ มีไอเดียว่า เราต่างเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของตัวเอง ไอเดียนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ จอร์แดน พีล สร้างหนังเรื่อง US ออกมา โดยตัวร้ายจะมีใบหน้าเหมือนตัวเอกทั้งหมดนั่นเอง
และนี่ก็เป็นแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยมให้เราจะลองสวมบทบาทเป็นด็อปเปิลแกงเกอร์ของเหยื่อบ้าง ซึ่งไม่ใช่การสวมบทบาทในโลกแห่งความจริงนะ แต่เป็นโลกออนไลน์แทน โดยการสร้างโซเชียลมีเดียแอคเคาท์ใหม่ ก็อปทั้งรูป ทั้งโปรไฟล์ กระทั่งถึงโพสต์ไลฟ์สไตล์ปกติที่เหยื่อทำกัน
ก่อนจะอีโวลูชันสร้างโลกคู่ขนาน เอาแอคเคาท์โคลนนิ่งนี้ไปกระทำการอันร้ายกาจต่างๆ นานา เพราะผลกระทบทั้งหมดจะตกไปที่เหยื่อให้เป็นผู้รับกรรมแทน ส่วนเรานั้นก็เสพสุขต่อไป
จะว่าไปแล้วความกลั่นแกล้งแบบนี้เป็นความรุนแรงรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมเทคโนโลยี โดยผู้กระทำสามารถเป็นใครก็ได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน โลกออนไลน์จึงถูกนำมาใช้เป็นช่องทางในการใส่ร้าย โจมตี และกลั่นแกล้งผู้อื่น น่าเศร้าที่ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหานี้โดยตรง
ประกอบกับความเข้าใจผิดระหว่างการหยอกล้อ (tease) ที่เกิดจากความสนิทสนมโดยไม่มีเจตนาร้าย กับการกลั่นแกล้ง (bully) ที่สร้างปัญหา ทำให้ปัจจุบันความรุนแรงประเภทนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
เห็นได้จากรายงานผลโครงการวิจัยการแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อกันยายน 2561 ที่ระบุว่า มีนักเรียนจำนวนมากถึงร้อยละ 91 ที่เคยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน และมีจำนวนร้อยละเกือบ 30 ที่เคยถูกกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ ทั้งนี้ผู้กระทำการแกล้งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ขณะที่ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็น LGBT นับเป็นปัญหาที่เราควรจะหันหน้าใส่ใจกันอย่างจริงเสียที
การกระทำทั้ง 5 ที่กล่าวมา ดูเผินๆ อาจเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่ใครๆ ก็ทำกัน ทว่าความจริงแล้ว ผลลัพธ์ของเรื่องแค่นี้กลับมีความรุนแรงมากกว่านั้น โดยเฉพาะการทำให้เหยื่อมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่ำลง วิตกกังวล ซึมเศร้า มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เครียด แปลกแยก ไม่อยากไปโรงเรียน หรือแม้กระทั่งอยากฆ่าตัวตาย
เราหวังว่าทุกคนจะฉุกคิดก่อนจะกระทำการใดๆ ที่เข้าข่ายคัมภีร์หนังสุนัขเล่มนี้
คุยกับ Gen AI