ความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย
ความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย16 Sep 2019 คุณรพินท์ภัทร์ ยอดหล่อชัย ความหลากหลายทางเพศ ทั้งในแง่รสนิยมทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) เป็นประเด็นที่สังคมในหลากหลายประเทศให้การยอมรับมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในปี 2019 มี 28 ประเทศที่กำหนดให้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ขณะที่ประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับเพศที่สาม ก็มีการถกประเด็นพูดคุยเรื่องการผลักดันให้มีการแก้ข้อกฎหมายให้รองรับคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกัน เรียกได้ว่า เราอาจจะเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการแสดงออกว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงในอีกไม่นาน อย่างไรก็ตาม ความหมายของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศนั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คำศัพท์บางคำในอดีตก็มีความหมายที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้ในการสื่อสารระหว่างบุคคลทั้งทางวาจาและผ่านงานเขียนอาจมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่บัญญัติขึ้นบางคำก็ยังไม่มีคำศัพท์ในภาษาไทยที่สื่อความได้อย่างชัดเจนหรือไม่เป็นที่แพร่หลาย สิ่งนี้เป็นประเด็นที่เราควรเริ่มให้ความสำคัญ เนื่องจากบางครั้งการใช้คำที่เราคุ้นเคยจากประสบการณ์ในอดีตอาจสื่อความไปในทางลบ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้รับสารได้ วันนี้ทางคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงรวบรวมคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ และความหมาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่ตรงกันและหลีกเลี่ยงการใช้คำที่มีความหมายทางลบในเชิงเหยียดต่อรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศต่อบุคคลอื่น เริ่มจากการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างรสนิยมทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์ที่กำกวมและถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือชาว LGBTQ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายในทางลบหรือเชิงเหยียดรสนิยมทางเพศและไม่ควรนำมาใช้ เพื่อเป็นการเคารพในสิทธิมนุษยชนของทุกเพศอันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของทุกคนในสังคม ตัวอย่างคำที่ไม่ควรใช้ คือ คนเบี่ยงเบนทางเพศ รักร่วมเพศ สาวประเภทสอง สายเหลือง ไส้เดือน คุณแม่ ซิส ประเทือง แต๋ว เก้ง กวาง ขุดทอง เป็นต้น อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)คือ การรับรู้เพศของบุคคลนั้นที่มีต่อตนเอง ว่ามีความเป็นเพศใดในกลุ่มทางเพศของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ โดยที่แต่ละสังคมก็มีกลุ่มทางเพศที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิด เช่น เด็กชาย เด็กหญิง ผู้ชาย ผู้หญิงหรือเพศอื่น ๆ ไม่นับรวมถึงความสนใจหรือความชอบทางเพศต่อบุคคลอื่น ๆ เพศกำเนิด (sex หรือ biological sex)คือ เพศที่ถูกกำหนดโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ จากอวัยวะสืบพันธุ์ โครโมโซม และฮอร์โมนต่างๆ แบ่งได้เป็น ชาย หญิง หรือ ภาวะเพศกำกวม เพศ (gender)คือ สถานะทางเพศที่เกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยา พฤติกรรม สังคมและวัฒนธรรม โดยแบ่งเป็น ลักษณะความเป็นชาย (masculinity) และลักษณะความเป็นหญิง (femininity) Cisgenderคือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง (เช่น การแต่งกายและพฤติกรรมท่าทาง) ตรงกับเพศกำเนิด ได้แก่คนที่เกิดมามีเพศหญิง – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้หญิง และแสดงลักษณะท่าทางเป็นหญิงผ่านการแต่งตัวหรือท่าทางคนที่เกิดมามีเพศชาย – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชาย และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง Transgender(คำที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคือ ผู้หญิงหรือผู้ชายข้ามเพศ)คือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง (เช่น การแต่งกายและพฤติกรรมท่าทาง) ไม่ตรงกับเพศกำเนิดอย่างสิ้นเชิง รวมถึงการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศด้วย ได้แก่Trans men คนที่เกิดมามีเพศหญิง – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชาย และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง อาจมีการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ เช่น การตัดเต้านม หรือการเสริมอวัยวะเพศชายTrans women คนที่เกิดมามีเพศชาย – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้หญิง และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง อาจมีการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ เช่น การเสริมเต้านม หรือการตัดอวัยวะเพศชาย Genderqueerคือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ ที่มากกว่าการแสดงออกเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง หรือบางครั้งไม่ใช่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรืออยู่ตรงกลางระหว่างผู้ชายและผู้หญิง รสนิยมทางเพศ (sexual orientation)คือ ความสนใจหรือความชอบทางเพศที่บุคคลมีต่อบุคคลอื่น ประกอบไปด้วย ความสนใจหรือความชอบทางอารมณ์ ความสนใจหรือความชอบทางเพศ และพฤติกรรมทางเพศที่บุคคลแสดงออก โดยเมื่อก่อนมีการจัดกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ Homosexual หรือกลุ่มคนที่รักหรือชอบเพศเดียวกัน และ Heterosexual หรือ กลุ่มคนที่รักหรือชอบเพศตรงข้าม (ชายรักหญิง และหญิงรักชาย) ในปัจจุบันสองคำนี้ไม่ได้ถูกใช้เป็น คำที่เรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ(คำที่คนไทยทั่วไปยังใช้เรียกคือ เพศที่สาม)คือ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มที่คนที่มีความสนใจหรือความชอบทางเพศที่หลากหลาย เช่น คนที่ระบุว่าตนเองเป็น เกย์ เลสเบี้ยน ไบ และคนที่ยังค้นหาความชอบทางเพศของตนเอง เลสเบี้ยน (lesbian)คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้หญิง และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อผู้หญิง รวมถึงกลุ่ม ทอมและดี้ เกย์ (gay)คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้ชาย และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อผู้ชาย ไบ (bisexual)คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อคนที่เป็นเพศเดียวกับตนเอง หรือเพศอื่นๆ โดยที่มาคือคำว่า bi ไม่ได้แปลว่าสองอย่างตรงตัว แต่แปลว่ามากกว่าหนึ่ง เช่น ผู้หญิงที่เป็นไบ (bisexual women) อาจมีความสนใจและความชอบทางเพศต่อผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ หรืออื่นๆ เควียร์ (queer)คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่มีรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง ที่ไม่เป็นไม่ตามบรรทัดฐานของสังคม เดิมทีการใช้คำนี้แสดงถึงความเหยียดรสนิยมทางเพศของกลุ่ม LGBTQ แต่ในปัจจุบันชาว LGBTQ นำกลับมาใช้เพื่อแสดงถึงสิทธิในการเลือกใช้คำที่สะท้อนความเป็นตัวตน Questioningคือ คำที่ใช้เรียกของคนที่ยังอยู่ในช่วงค้นหาความสนใจหรือความชอบทางเพศ รวมไปถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง Asexualคือ คำที่ใช้เรียกของคนที่ไม่มีความสนใจหรือความชอบทางเพศต่อเพศอื่น ๆ ต่างจากภาวะหมดสมรรถภาพทางเพศ ดังที่กล่าวว่าภาษานั้นเป็นสิ่งที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ความหมายในยุคสมัยหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในอีกยุคสมัยหนึ่ง อีกทั้งความรู้สึกต่อถ้อยคำต่าง ๆ ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคลและการรับรู้เจตนาของผู้ส่งสาร แต่ในบริบทที่เป็นทางการ เป็นสาธารณะ หรือเป็นการสื่อสารที่ไม่อาจคาดเดาขอบเขตการยอมรับของผู้รับสารได้ การระมัดระวัง…ด้วยตระหนักในสิทธิและในเกียรติของกันและกัน จะช่วยทำให้สังคมของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น บทความวิชาการโดย คุณรพินท์ภัทร์ ยอดหล่อชัยนิสิตปริญญาโท แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Tag:การสื่อสารตัวตนในโรงเรียน, การสื่อสารตัวตนกับครอบครัว,
ทำความรู้จัก LGBTQ+ โอบกอดความหลากหลายที่ “ไม่จำเป็นต้องรักษา”
ทำความรู้จัก LGBTQ+ โอบกอดความหลากหลายที่ “ไม่จำเป็นต้องรักษา”15 พฤศจิกายน 2565ปัจจุบัน เดือนมิถุนายนของทุกปี ได้กลายมาเป็นที่รู้จักในชื่อ “Pride Month” ซึ่งเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยความคึกคัก และสีสันของการเดินขบวนรณรงค์ เพื่อเรียกร้องการยอมรับ และความเท่าเทียมทางเพศ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ เพื่อสื่อถึงการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ขอถือโอกาสนี้ แบ่งปันข้อมูลความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่ควรทำ หากมีคนใกล้ตัว หรือสมาชิกในครอบครัว เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ คืออะไร? คือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยตัวอักษรภาษาอังกฤษแต่ละตัว เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศแบบหนึ่ง โดยเพศวิถีใน LGBTQ+ (แอล-จี-บี-ที-คิว-พลัส) มีดังนี้: L – Lesbian (เลสเบี้ยน): ผู้หญิงที่รักผู้หญิง G – Gay (เกย์): ผู้ชายที่รักผู้ชาย B – Bisexual (ไบเซ็กชวล): ชายหรือหญิงที่มีความรักกับเพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้ามก็ได้ T – Transgender (ทรานส์เจนเดอร์): ผู้ที่เปลี่ยนแปลงเพศสภาพของตน ไปเป็นเพศตรงข้าม Q – Queer (เควียร์): คนที่ไม่จำกัดตนเองเป็นเพศใด ๆ และไม่เกี่ยวกับเพศสภาพ และตัวย่อนี้ ยังรวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ (+) อีกด้วย ความหลากหลายทางเพศ “ไม่ใช่โรค หรือความผิดปกติ” สมัยก่อนมีการมองว่า การรักใคร่ชอบพอในเพศเดียวกัน เป็นสิ่งที่ผิดปกติ มีเอกสารระบุว่า “กะเทย” คือ ผู้มีความผิดปกติทางจิต ซึ่งความคิดเหล่านี้ล้วนถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรม หรือบรรทัดฐานทางสังคมในยุคนั้น ๆ เป็นเหตุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศในอดีต ไม่ได้รับสิทธิ และการยอมรับจากสังคมเท่าที่พวกเขาควรจะได้รับ ปัจจุบัน ในทางการแพทย์ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ “ไม่ได้เป็นโรค” หรือ “มีความผิดปกติทางจิตใจ” แต่อย่างใด โดยการเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจเกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งภายในร่างกาย เช่น ระดับฮอร์โมน สารเคมีในสมอง และภายนอกร่างกาย เช่น รูปแบบการเลี้ยงดู วัฒนธรรม หรือพื้นฐานทางสังคมที่หล่อหลอมขัดเกลาบุคคล “ความหลากหลายทางเพศ จึงไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด” ยอมรับ-ปฏิบัติต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างถูกต้องและเท่าเทียม ช่วงอายุ 5 – 8 เดือน ลูกจะเริ่มจำหน้าพ่อแม่ได้รับรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร แม้จะเห็นเพียงบางส่วนก็ตาม เขาจะรับรู้ว่าวัตถุอยู่ห่างจากตัวเองมากแค่ไหน มองเห็นโลกแบบสามมิติ มองเห็นสีได้มากขึ้นและจดจำสิ่งต่าง ๆ แสดงอารมณ์ดีใจ ขัดใจ หันตามเสียงเรียก เริ่มทำเสียงพยางค์เดียวได้เช่น หม่ำ ป๊ะ เมื่อมีของตกลงพื้นสามารถมองตามได้ คว้าของมือเดียว สลับมือถือของได้ เริ่มพลิกคว่ำพลิกหงาย จะเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น และสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น อยากรู้อยากเห็น อยากจับของทุกอย่างเด็กวัยนี้จะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น ลูกอาจมีอาการคันเหงือกและหยิบจับสิ่งของเข้าปากมากขึ้นกว่าเดิม ไม่เปรียบเทียบเรื่องเพศของสมาชิกในครอบครัวกับใคร และควรส่งเสริมการรู้คุณค่าในตนเอง เพิ่มการสื่อสารในเชิงบวก พูดคุย เปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้บอกเล่าเรื่องราว ใส่ใจความรู้สึก ให้ความสำคัญ และชื่นชมในสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวทำได้ สังเกตพฤติกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากอาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งทางร่างกาย และทางด้านจิตใจ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าตนเองรู้สึกแปลกแยกจากสังคม หรือมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง มีอาการซึมเศร้า เป็นต้น ปฏิบัติต่อบุคคลในครอบครัว โดยให้เกียรติความหลากหลายทางเพศ “ที่บุคคลนั้นเป็นผู้เลือก” เคารพสิทธิส่วนบุคคล ไม่ถามถึง รสนิยมทางเพศ ของสมาชิกในครอบครัว ไม่ตัดสินเพศวิถีจากรูปลักษณ์ภายนอก และการแสดงออกของสมาชิกในครอบครัว ร่วมผลักดันการยอมรับ LGBTQ+ ในสังคม ปีนี้ จะมีการจัดงานไพรด์ พาเหรด ขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนได้แสดงออกถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย และเป็นการสนับสนุนและเคารพความหลากหลายของเพศวิถี ในชื่องาน “บางกอก นฤมิตไพรด์” ซึ่งจะมีการเดินขบวนพาเหรดตั้งแต่หน้าวัดแขกมุ่งหน้าสู่ถนนสีลม ตั้งแต่เวลา 15:00 – 19:00 น. ในวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่จะถึงนี้ https://www.princsuvarnabhumi.com/news/-LGBTQ
Tag:การสื่อสารตัวตนในโรงเรียน, การสื่อสารตัวตนกับครอบครัว,
เพศทางเลือก
เพศทางเลือก (LGBT)2 นาทีในการอ่านแชร์ รู้จักเพศทางเลือกเพศทางเลือก คือ กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม สามารถจำแนกได้ดังนี้กลุ่มที่มีความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ทางเพศ คนที่มีเพศที่ปรากฏทางร่างกายกับจิตใจไม่ตรงกัน เช่น ร่างกายเกิดมาเป็นผู้ชาย แต่จิตใจรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้หญิงกลุ่มที่มีความหลากหลายด้านรสนิยมทางเพศ คนเราแต่ละคนสามารถมีความรู้สึกรัก รู้สึกดึงดูด หรือมีอารมณ์ทางเพศต่อกันในลักษณะที่หลากหลายได้ มีทั้งรักเพศตรงข้าม รักเพศเดียวกัน รักทั้งสองเพศ หรือไม่มีความรู้สึกทางเพศต่อเพศใดเลยก็ได้กลุ่มที่มีความหลากหลายด้านการแสดงออกทางเพศ เป็นการแสดงออกภายนอกของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจถูกตีความตามบริบทของสังคมนั้น ๆ ว่าเป็นเพศนั้นเพศนี้ เช่น คนที่ไว้ผมยาวสวมกระโปรงต้องเป็นผู้หญิง ฯลฯ เมื่อคนใกล้ตัวเป็น “เพศทางเลือก”ปัจจุบันเราพบเห็นการแสดงออกของกลุ่มบุคคล “เพศทางเลือก”ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ทำให้ตระหนักถึงการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้อย่างกว้างขวางและทำให้หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า คนใกล้ตัวจะเป็น ”เพศทางเลือก” หรือไม่ เช่น พ่อแม่ที่กังวลเมื่อเห็นลูกชายชอบเล่นตุ๊กตากับกลุ่มเพื่อนผู้หญิง หลายคนรู้สึกรังเกียจและคิดว่าคนกลุ่มนี้มีความผิดปกติ ซึ่งความเข้าใจของคนส่วนใหญ่มักคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง “เพศทางเลือก” ส่วนผสมที่ซับซ้อนความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนผสมที่ซับซ้อนขององค์ประกอบทั้งทางกาย (ฮอร์โมน / สารเคมีในสมอง) จิตใจ (การเลี้ยงดู / วิธีคิดของแต่ละคน) และสังคม (ความคาดหวัง / การยอมรับจากสังคม /วัฒนธรรมที่หลากหลาย) ในทางการแพทย์ไม่ถือว่าบุคคลที่มีความแตกต่างทางรสนิยมและการแสดงออกทางเพศเป็นความผิดปกติ เพียงแต่อาจให้คำแนะนำในการปรับตัวและทำความเข้าใจกับคนรอบข้างในบางรายเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่มีความแตกต่างด้านอัตลักษณ์ทางเพศนั้นอาจมีความรู้สึกทุกข์ทรมานที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ ภายใต้ร่างกายที่ในความรู้สึกลึก ๆ แล้วไม่ใช่ “ร่างกายของตนเอง” จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งแพทย์จะพยายามแก้ไขร่างกายให้สอดคล้องกับภาวะจิตใจของคนคนนั้น ปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศ การวินิจฉัยที่ถูกต้อง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถระบุบุคคลที่มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศท่ามกลางผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศชนิดอื่นซึ่งมีอยู่มากมาย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่น ๆ ผู้ที่สงสัยว่ามีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัย หลังจากจิตแพทย์วินิจฉัยแล้วจะให้คำแนะนำในการใช้ชีวิต การปรับตัว ตลอดจนการสื่อสารกับครอบครัวหรือบุคคลอื่น ๆ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คุณครู เพื่อให้ทราบถึงวิธีการดูแลที่เหมาะสมและจะมีการนัดติดตามเป็นระยะเพื่อดูผลของการปรับตัว การเข้าสู่กระบวนการแปลงเพศ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม บางคนอาจอยากเปลี่ยนแปลงร่างกายของตนให้เป็นไปตามที่จิตใจต้องการ จึงควรมาปรึกษากับแพทย์ที่มีความชำนาญการเฉพาะในด้านต่าง ๆ เช่น ผู้ที่ต้องการใช้ฮอร์โมนควรปรึกษาแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อหรือสูติ – นรีแพทย์เพื่อให้แพทย์พิจารณาการใช้ฮอร์โมนหรือยาในขนาดที่เหมาะสมและไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ไม่ควรซื้อยาเหล่านี้กินเอง ผู้ที่ตัดสินใจจะรับการผ่าตัดเพื่อแปลงเพศจะต้องพบจิตแพทย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและประเมินความพร้อมในการผ่าตัด และควรรับการผ่าตัดจากศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในการผ่าตัดรูปแบบนี้โดยเฉพาะและควรทำการผ่าตัดในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานhttps://www.bangkokhospital.com/content/lgbt-alternative-sex
Tag:การสื่อสารตัวตนกับครอบครัว, เพศภาวะ, การสื่อสารตัวตนในโรงเรียน,
การเปิดเผยตัวตนของ LGBT ตั้งแต่มัธยมเป็นผลดีต่อสุขภาพจิต
การเปิดเผยตัวตนของ LGBT ตั้งแต่มัธยมเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตจากรายงานการศึกษาพบว่าคนที่เป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล กะเทย และคนข้ามเพศ (LGBT) ที่แสดงออกถึงตัวตนมาตั้งแต่อยู่ในช่วงมัธยมจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่ปกปิด จากข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Francisco State University ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ที่เป็น LGBT ที่เป็นคนผิวขาวและพูดภาษาสเปนมีอายุระหว่าง 21-25 ปี จำนวน 245 คน พบว่าพวกเขาล้วนเคยถูกรังแกในสมัยอยู่ชั้นมัธยมไม่ว่าพวกเขาจะแสดงออกหรือไม่แสดงออกก็ตาม ส่วนในบรรดาผู้ที่เปิดเผยว่าเป็น LGBT ตั้งแต่มัธยมจะมีความเคารพนับถือตัวเองและมีความสุขในชีวิตมากกว่าคนที่ไม่เปิดเผย และขณะเดียวกันพวกที่เปิดเผยจะมีภาวะซึมเศร้าน้อยกว่าพวกที่พยายามปกปิดตัวเอง บางครั้งผู้ใหญ่มักจะให้คำแนะนำแก่เยาวชนที่เป็น LGBT ว่าให้ปกปิดตัวเองไว้เพื่อป้องกันการถูกกลั่นแกล้งหรือทำร้าย แต่จากผลการศึกษาพบว่าคำแนะนำดังกล่าวอาจไม่ใช่คำแนะนำที่ดีที่สุด มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ปี 2559 https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/6deccb5d-4ef9-e711-80de-00155d84fa40
Tag:การสื่อสารตัวตนในโรงเรียน,
ความหลากหลายทางเพศบนจอเงิน/จอแก้ว แท้จริงแล้ว “หลากหลาย” แค่ไหน?
การปรากฏตัวของ LGBTIQN บนสื่อบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือ ละคร คงไม่ใช่ภาพแปลกตาเท่าไหร่นักในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ นั่นคือลักษณะ บทบาทของคาแรกเตอร์กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่นับวันยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 หรือ 30 ปีก่อน ภาพ LGBTIQN ในภาพยนตร์หรือละครที่เราคุ้นเคย คงหนีไม่พ้นตัวละครสายตลกโปกฮา จริตจะก้านจัดจ้าน และไม่ได้มีฟังก์ชันอื่นใดมากไปกว่าการสร้างสีสัน แต่ปัจจุบันนี้ เราได้เห็นสื่อบันเทิงมากมาย กล้าที่จะขยับขยายบทบาทกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้กว้างขึ้น เราได้เห็น LGBTIQN ขึ้นมาเป็นตัวละครเอกในเรื่องเล่ามากขึ้น มองเห็นมุมมองความเป็นมนุษย์ด้านอื่น ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน มายาคติล้าสมัยที่มองว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องตลก ต้องกล้าแสดงออก ฯลฯ นั้น ก็ค่อย ๆ ถูกบ่อนเซาะลงทีละน้อย อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันนี้ ในยุคที่การพูดคุยเรื่องความเสมอภาคทางเพศเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และมีรายละเอียดแตกแขนงย่อยออกไปหลายมิติ มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อบันเทิงทั้งจากนักวิจารณ์และผู้ชมว่า เมื่อพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้วความหลากหลายทางเพศบนจอภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์นั้น “หลากหลาย” อย่างแท้จริงหรือไม่? เพื่อหาคำตอบ The Visual ทำการสำรวจตัวละคร LGBTIQN ในสื่อภาพยนตร์/ซีรีส์ ทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 1,000 เรื่อง ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อจำแนกสัดส่วนพื้นที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มต่าง ๆ ก่อนนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ความหลากหลายที่คนดูอย่างเรารับรู้กันนั้น ในความเป็นจริงแล้วก็ยังไม่สามารถสะท้อนภาพกลุ่ม LGBTIQN ได้ครอบคลุมอย่างแท้จริง จากผลการสำรวจจะเห็นว่า ในบรรดาอัตลักษณ์ทางเพศทั้ง 7 ตัวอักษร (LGBTIQN) G หรือ Gay ดูเหมือนจะถือครองสัดส่วนพื้นที่ในสื่อมากที่สุด อย่างเช่นในซีรีส์ทาง LINE TV ซึ่งเป็นหนึ่งใน Platform Streaming ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย จากข้อมูลชี้ว่าตัวละคร Gay มีสัดส่วนคิดเป็น 89.52% ของคาแรกเตอร์ LGBTIQN บน LINE TV ทั้งหมด ขณะที่อีก 3 อัตลักษณ์ที่เหลืออย่าง Lesbian Bisexual มีปริมาณเท่า ๆ กันอยู่ที่ 4.76% และ Transgender อยู่ที่ 0.95% ยิ่งไปกว่านั้น จากการแบ่งภาพยนตร์/ซีรีส์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ The Visual ยังพบอีกว่า มีสื่อบันเทิงบางประเภทที่ไม่เคยมีการนำเสนอภาพกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเลยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือแอนิเมชันจากค่ายดิสนีย์ ซึ่งตัวละครทุกตัวล้วนเป็น Cisgender หรือ กลุ่มคนที่มีเพศสภาพตรงกับเพศสรีระโดยทั้งสิ้น ขณะที่บางอัตลักษณ์ก็ไม่เคยปรากฏหรือถูกหยิบยกมานำเสนอไม่ว่าจะในสื่อไหน ๆ ได้แก่ กลุ่ม I หรือ Intersex และ กลุ่ม Q หรือ Queer ด้วยเหตุนี้เมื่อย้อนกลับไปมองถึงแกนหลักของการนำเสนอความหลากหลายทางเพศ สถานการณ์ของสื่อบันเทิงในปัจจุบันจึงอาจยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร นอกจากพื้นที่ของอัตลักษณ์ทางเพศกลุ่มต่าง ๆ จะมีสัดส่วนไม่เท่ากันแล้ว อีกประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตและถกเถียงอย่างกว้างขวางไม่แพ้กัน นั่นก็คือสถานภาพของตัวละคร LGBTIQN ที่ปรากฏบนสื่อ ภายใต้แนวคิดของการนำเสนอความหลากหลายในมนุษย์ นักวิชาการด้าน Gender Study หลายท่านมองว่า ตัวตนของ LGBTIQN บนสื่อบันเทิงนั้น กลับไปไหนไม่ได้ไกลเกินกว่าค่านิยมเดิม ๆ ของสังคม อย่างที่เห็นจากตัวละคร Gay Lesbian หรือ Transgender จำนวนมากในภาพยนตร์หรือละคร ที่มักจะมีภาพลักษณ์สวยหล่อ หน้าตาดี มีภูมิลำเนาอยู่ในเมือง เป็นชนชั้นกลาง หรืออยู่ในกรอบขนบอื่น ๆ ที่สังคมนิยมชมชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สิ่งนี้ย้อนกลับมาสู่คำถามตั้งต้นเดิมที่ว่า สื่อบันเทิงสามารถนำเสนอความหลากหลายได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ดร.ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการด้านเพศภาวะ/เพศวิถี และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า มีภาพลักษณ์ของกลุ่ม LGBTIQN เพียงบางบทบาทเท่านั้น ที่ถูกดึงมาเพื่อ Represent ภาพชุมชนทั้งหมด ขณะที่ยังมีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากมิติและพื้นที่ชายขอบอื่น ๆ อีกมาก ที่สื่อยังไปไม่ถึงหรือยังไม่กล้าหาญพอที่จะนำเสนอ “บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะถูกนำมาเสนอในภาพยนตร์ ละคร โฆษณา ส่วนใหญ่ก็ต้องหน้าตาดี ถ้าเป็น Gay ก็ต้องมีกล้ามเนื้อ มีรูปร่างที่ดึงดูด มีสีผิวที่เป็นที่นิยม ถ้าเป็น Transwoman ก็ต้องสวยขนาดที่ชนะผู้หญิง ลักษณะแบบนี้ถึงจะมีพื้นที่ในสื่อได้ หรือแม้แต่อายุก็จะจำกัดอยู่แค่วัยรุ่น หรือวัยทำงานเท่านั้น รวมถึงยังต้องเป็นกลุ่มที่กระจุกตัวในชุมชนเมือง มีความหรูหรา สะดวกสบาย ภาพ LGBTIQN ในมิติอื่น ๆ ปรากฏน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็น LGBTIQN ที่เป็นผู้สูงวัย เป็นคนชนบท หรือแม้แต่ในมิติศาสนา สื่อพยายามหลีกเลี่ยงบทบาทในแง่มุมนี้ เพราะอาจจะไม่กล้าหาญพอ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว LGBTIQN เขาก็ควรมีพื้นที่ทางศาสนา มันควรเป็นความเสมอภายในความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่ทางจิตวิญญาณ เข้าถึงความสงบสุขได้”ดร.ชเนตตี กล่าว ดังนั้น เพื่อทำให้สื่อบันเทิงทั้งหลาย กลายเป็นพื้นที่แห่งความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง นักวิชาการด้านเพศภาวะทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ผู้สร้าง ผู้กำกับ หรือนักเขียนบทสามารถทำได้ คือการอ้าแขนโอบอุ้มกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากทุก ๆ อัตลักษณ์อย่างแท้จริง ให้พวกเขาได้มีพื้นที่เพื่อเปล่งเสียงและบอกเล่าเรื่องราว ล้อไปกับการพยายามพลิกวิธีคิดในการเล่าเรื่อง พร้อมกับเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีความเปราะบาง หรือเป็นรากฐานสำคัญอันทำให้ LGBTIQN ยังถูกเลือกปฏิบัติ อย่างเช่น มิติทางศาสนา ซึ่งพื้นเพเดิมมักตีตรากลุ่ม LGBTIQN ว่าเป็นผู้ผิดบาป โดยหากสื่อยังไม่สามารถนำเสนอแง่มุมใหม่ ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายและศาสนาได้ ความเชื่อนี้จะกลายเป็นรากฐานซึ่งผลิตซ้ำอคติหรือแม้กระทั่งความรุนแรงต่อไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ “...อย่าสร้างภาพเหมารวมโดยการบอกว่าเชิดชูความเท่าเทียมทางเพศ แต่เอาภาพของ LGBTIQN เพียงบางกลุ่มมาเป็น Representation….LGBTIQN ทุกกลุ่ม เขามีความหมาย เขามีชีวิต เขามีจิตใจ ถ้าคุณจะนำเสนอภาพ LGBTIQN เพียงแค่ว่า เขาคือ Gay เพียงแค่ว่าเขาคือ Transwoman แต่คุณลืม Intersex คุณลืม Queer ลืม Bisexual หรือ Lesbian ก็เท่ากับว่าคุณยังไม่ได้ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง...”ดร.ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการด้านเพศภาวะ/เพศวิถี และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://thevisual.thaipbs.or.th/equality/gender-on-screen/gender-diversity-in-entertainment-industry/
Tag:ชุมชนความหลากหลายทางเพศ,